“ทูตพาณิชย์ไคโร” ดึงอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง โปรโมตข้าวหอมมะลิไทย
นายเถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารของอียิปต์ คือ Chef Salma Saleh , Certified chef & Recipes developer ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 170,000 คน จัดทำคลิปสั้น เพื่อโปรโมตการใช้ข้าวหอมมะลิไทยในการปรุงประกอบเมนูท้องถิ่นของอียิปต์ ที่ชื่อว่า Sayadia rice with shrimp การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้แคมเปญ Think Rice, Think Thailand โดยมุ่งหวังให้ชาวอียิปต์ที่ต้องการบริโภคข้าว ได้นึกถึงข้าวไทยก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งขณะนี้ ได้เริ่มนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แล้ว และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้รู้จักข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรับรู้ว่าข้าวไทย เป็นข้าวคุณภาพดี มีมาตรฐาน และสามารถนำไปบริโภคกับอาหารท้องถิ่นได้
กรมพัฒน์ฯ นำกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางธุรกิจ ไม่ต้องเสียเวลาไปจบปัญหาที่ศาล
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงการประกอบธุรกิจย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอปัญหาความเห็นที่แตกต่างกัน ความไม่เข้าใจกัน จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ที่มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจ เช่น กรรมการ ผู้ถือหุ้น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมถึงผู้ให้หลักประกัน เมื่อคุยกันไม่ลงตัว เกิดการฟ้องร้องกันอยู่เป็นประจำ สุดท้ายต้องไปพึ่งศาลให้เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งกว่าจะถึงบทสรุปได้ต้องใช้เวลายาวนาน และส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัท คู่กรณี ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และเป็นการทำลายสัมพันธภาพระหว่างหุ้นส่วน ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงักดำเนินการต่อไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ กรมฯ และสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) จึงเล็งหาวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นลงไปโดยไม่ต้องถึงศาล ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล หรือ การระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ให้บุคคลที่สาม ที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เรียกว่า “อนุญาโตตุลาการ” ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเข้ามาเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวและกำหนดให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด คล้ายกับการระงับข้อพิพาทโดยศาล เพียงแต่ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยศาล ซึ่ง “อนุญาโตตุลาการ” หรือ บุคคลที่สาม อาจเป็นบุคคลเดียวหรือ หลายบุคคลก็ได้
ส.อ.ท.ยื่น 5 ข้อเสนอ หลังดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วง 4 เดือนต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
1. เร่งการตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ
2. ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ
3. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการด้วยรูปแบบ Community Isolation ที่รับรองโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม
4. เสนอให้ภาครัฐนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและเสียชีวิต
5. ให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19