5 Global Trends กระแสโลกที่ธุรกิจต้องจับตา

388
Industrial port and container yard

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่ง finbiz by ttb เจาะลึกเทรนด์และโอกาสสร้างความเติบโต สำหรับการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอีนำเข้า-ส่งออก เจาะลึก 5 Global Trends กระแสโลกที่ธุรกิจต้องจับตา ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปตลอดกาล และอีกส่วนหนึ่งจากวิถีเศรษฐกิจโลกที่มีการพัฒนาไปจากเดิม

1) CHINA + RCEP จะแซงหน้าเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเร็ว ๆ นี้

ในปี 2022 นี้ มีความเป็นไปได้อยู่มากที่จีนจะแซงสหรัฐฯ ไปสู่การเป็นผู้นําเข้าอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งตลาด RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก คือ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งประชากรและ GDP ตลาดนี้จึงเป็นตลาดสำคัญ โดย RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 ประกอบด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และ เวียดนาม

2) ปลดล็อก Demand E-commerce เติบโตในตลาดโลกไร้พรมแดน

ปัจจุบัน E-commerce ได้ครองตลาดมากกว่าออฟไลน์ไปแล้ว ถึง 60%  และยิ่งสำหรับในไทยตลาดออนไลน์ได้กินตลาดไปถึง 95% ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งกำลังจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ดังนั้นนอกจากธุรกิจจะต้องหาโอกาสจากตลาดออนไลน์แล้ว กุญแจหลักสำคัญในการเข้าถึงการค้าในโลกยุคใหม่คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้จากทั่วทุกมุมโลก

3)  สินค้ากลุ่ม Hi-Tech ตลอดทั้งซัพพลายเชน โตแบบก้าวกระโดด

ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ผลักดันให้สินค้าเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า High-tech ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ Gadget หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ  รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยี ต้องรีบคว้าโอกาส เพราะไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อย่างที่เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีการเติบโต และคาดว่าจะเติบโตเป็นสองเท่าของทุกปี โดยได้รับแรงหนุนจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งราคาพลังงาน และแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม

4) Homebody Economy ชีวิตติดบ้าน

จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนมีชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และถึงแม้จะระวังการใช้จ่าย แต่กลับลงทุนกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ เครื่องโทรศัพท์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม กลุ่มนี้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผลสำรวจที่น่าสนใจ คือ คนไทยอยากทำงานที่บ้านเป็นอันดับ 1 ของโลก นั่นหมายถึง อุปกรณ์หรือสินค้าใด ๆ ที่สามารถรองรับการทำงานที่บ้าน การอยู่กับบ้านได้นั้น มีโอกาสเติบโตสูง

5) Wellness First สร้างสมดุลสุขภาพ กาย-ใจมาก่อน

เทรนด์การสร้างสุขภาพแบบรอบด้านต่อเนื่องจากการได้อยู่กับบ้าน มีเวลาให้ตัวเอง และได้โฟกัสที่คุณภาพชีวิตมากขึ้น เทรนด์ของ Wellness จึงกลายเป็น Top Agenda ของคนทั้งโลก อะไรที่ทำให้ชีวิตดี มีคุณภาพ การป้องกันเชื้อโรคก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนหันมาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน เก้าอี้ อาหารการกิน ทุกอย่างจะถูกคัดสรรเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ความสมดุลทั้งกายและจิตใจ หากธุรกิจที่ดำเนินอยู่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ให้ลองหาวิธีว่าจะทำอย่างไร อาจจะลองเพิ่มฟังก์ชันและจุดขายของสินค้า หรือใช้นวัตกรรมเข้าช่วย เพื่อพัฒนาสินค้าให้เอื้อกับคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น