4 ล้านคนในที่ดินรัฐ 16 ล้านไร่ รอ 22 หน่วยเร่งงานหลัง MOU

391

เผยประชาชน 4 ล้านคนในพื้นที่ 16 ล้านไร่ในที่ดินรัฐรอ 22 หน่วยงานเร่งลงมือภาคปฏิบัติหลังบิ๊กป้อมนำทัพจับเซ็น MOU ชี้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แหล่งน้ำกินน้ำใช้คือความจำเป็นที่ขาดแคลน  การพัฒนาส่งเสริมอาชีพและช่องทางการตลาดยังต้องสนับสนุน

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช.  เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามา การ์เด้นส์  มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  พล.อ. อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานนั้น

แหล่งข่าวสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตุว่า  ในงานดังกล่าวนอกจากพล.อ.ประวิตร รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการทำ MOU ของ 22 หน่วยงานแล้ว  การที่พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย และนายอนุชา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐ  รวมถึงผู้ใหญ่อีกหลายหน่วยงานมาร่วมเป็นสักขีพยาน  แสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญมากต่อการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดผลงานในการช่วยเหลือประชาชนเวลาอันรวดเร็ว  โดยเฉพาะพล.อ.ประวิตรที่กล่าวเน้นหลายครั้งบนเวทีว่า  ขอให้หน่วยงานต่างๆทำงานให้เร็ว  ทำต่อให้เป็นรูปธรรม

“ขณะนี้มีประชาชนประมาณ 3-4 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินรัฐในพื้นที่รวมประมาณ 16 ล้านไร่โดยยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นหลังจากการลงนามซึ่งเป็นเพียงพิธีกรรมแล้ว  หน่วยงานต่างๆต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว  เช่นอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์  พัฒนาระบบสาธารณูปโภคเร็ว  ส่งเสริมอาชีพเร็ว  เพื่อให้ประชาชนในที่ดินรัฐซึ่งรวมถึงเด็กและคนชรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้พลเอกประวิตร ได้กล่าวในงานนี้ว่า ในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรือชุมชน เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน โดยให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ป้องกันการเปลี่ยนมือและการเข้ามาครอบครองของนายทุน เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืนและตกทอดไปถึงลูกหลานได้

อย่างไรก็ตามนอกจากได้ที่ดินทำกินแล้วประชาชนยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นการเร่งด่วน ในการจัดทำและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา เส้นทางคมนาคม และแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถลงหลักปักฐานต่อไปในระยะยาวได้ รวมทั้งให้มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และต่อยอดไปสู่การจัดหาตลาด รวมถึงช่องทางการกระจายผลผลิตทางการเกษตร หน่วยงานต่างๆของรัฐจึงจำเป็นต้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ

ดร. รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สคทช.กล่าวว่า  สคทช.ได้เร่งการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน และเร่งแก้ไขปัญหากรณีราษฎรหรือชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ปัจจุบันได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 1,483 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 5,792,144 ไร่

อย่างไรก็ดีจากการตรวจติดตามในพื้นที่ คทช พบว่า ประชาชนมีความต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบประปา ไฟฟ้า และถนนเพื่อสามารถส่งผลผลิตออกมาขายได้  ในเรื่องนี้จึงต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน   สคทช. จึงเห็นควรยกระดับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดพื้นที่เป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 หน่วยงาน 2 กลุ่ม คือ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และหน่วยงานที่สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)  กรมพัฒนาที่ดิน  เป็นต้น