4 องค์กรผนึกกำลังขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสุขภาพ

493

4 องค์กรพันธมิตร จัดเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสุขภาพ และบริการเพื่อสุขภาพแก่คนทั้งมวล” เตรียมความพร้อมจัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022 เผยเทรนด์นวัตกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพมาแรง

 กระทรวงสาธารณสุข ทีเส็บ ททท. และ สสส. ประสานเสียงพร้อมจัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022 ล่าสุดจัดเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสุขภาพ และบริการเพื่อสุขภาพแก่คนทั้งมวล” ชี้เทรนด์นวัตกรรมด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการดูแลสุขภาพมาแรง หวังใช้การจัดงานฯ แสดงศักยภาพความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพครบวงจร สร้างมูลค่าพัฒนาธุรกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข   กล่าวในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “การขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสุขภาพ และบริการเพื่อสุขภาพแก่คนทั้งมวล” (Empowering Smart Healthcare Innovation Thailand) ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022  ว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่งในด้านการแพทย์และการบริการสุขภาพ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อันประกอบด้วยศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย(Academic Hub) และ ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) 

ในวันนี้นวัตกรรมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกเรื่อง เห็นได้จากการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้คิดค้นนวัตกรรมหลายอย่างเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมโรคและการส่งเสริมการควบคุมโรคในรูปแบบต่างๆ การใช้การตรวจแบบ ATK การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ และประสบความสำเร็จทำให้ภูมิของผู้ฉีดอยู่ในระดับสูง ทำให้วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดมีการคลี่คลาย สามารถเปิดประเทศได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการคืนชีวิตรูปแบบปกติในวิถีใหม่ได้เร็วขึ้น

โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า นโยบายในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุข หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น มีแนวทางปฏิบัติที่ประกอบด้วย การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว มาตรการ Covid Free Setting สำหรับสถานประกอบการพื้นที่ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และ เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง เพื่อสามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์ได้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ส่วนนายคมกริช ด้วงเงิน รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา พบว่าอัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 พันคนต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี  อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เกาหลีใต้ ซึ่ง ททท. ได้มีการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ความพร้อมด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ควบคู่กับแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Thailand Year 2022 ด้วยแนวคิด Amazing Thailand, Amazing New Chapters. พร้อมทั้งมีการจัดทำโครงการด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration หรือ SHA ซึ่งมีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานอยู่ประมาณ 27,000 ราย ใน 10 ประเภทกิจการ

โดยกลุ่มของ Medical Tourism มีความสำคัญอย่างมาก จากการศึกษาพบว่า 78% ของคนใน 48 ประเทศทั่วโลก มีความต้องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ในใจ และมองประไทยเป็นลำดับต้นๆ ที่จะมาใช้บริการ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงถึง 80,000 – 120,000 บาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยสูงถึง 80% สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงและพลิกฟื้นการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ที่ต้องการให้การท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง บนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ บนอุปทานที่เหมาะสม ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ  เน้นการหารายได้มากกว่าปริมาณ ลดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว ปรับภาพการท่องเที่ยวไทยจากตลาด Mass สู่ตลาดคุณภาพ ภายใต้การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ สามารถขายสินค้าการท่องเที่ยวที่มีราคาดี แตกต่างจากที่ผ่านมา

ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “หลังจากวิกฤติโควิด 19 และเปิดประเทศ ทีเส็บ เร่งผลักดันการทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจัดงานไมซ์ที่มีความปลอดภัยตามมาตรการสาธารณสุข และปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ซึ่งการจัดงานแสดงสินค้าถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Quick Win ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างทันท่วงที ซึ่งงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022 เป็นตัวอย่างการผนึกกำลังของพันธมิตรในการจัดงานเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศตามนโยบาย “หนึ่งกระทรวง หนึ่งงานนิทรรศการ” (One Ministry One Expo) ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการใช้งานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อีกด้วย

ที่ผ่านมาทีเส็บส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งยกระดับการจัดงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรามีแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect ที่เป็นเหมือนตลาดเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการ สำหรับการจัดกิจกรรมไมซ์ หรือที่เรียกว่า MICE E-Marketplace โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการไมซ์อยู่ในระบบมากกว่า 10,000 ราย เชื่อมโยงการบริการไปยังผู้ซื้อให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบทั้งผู้จัดงาน สถานที่จัดงาน ที่พัก ร้านอาหาร ตลอดจน โลจิสติกส์ มีมาตรฐานการให้บริการด้านความปลอดภัยที่ผ่านมาตรฐาน TMVS (Thailand MICE Venue Standards) และ  AMVS (ASEAN MICE Venue Standards)

โดยในงานนี้ ทีเส็บจะนำเสนอโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมสุขภาพด้วยนวัตกรรมแห่งไมซ์ หรือ “Driving Thailand Health Industry with MICE Innovation” ผ่านแนวคิด Hygiene + Hybrid (2HY) อาทิ แนวปฎิบัติการจัดงานต่าง ๆ แพ็กเกจสนับสนุนการจัดงาน ตัวอย่างการจัดงานไมซ์แบบ 2HY เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดงานด้าน Virtual / Hybrid Event Management, Crowd Management, Biz Connect Application เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการจัดประชุม สัมมนา การจัดงานแสดงสินค้าและงานอีเวนต์ในประเทศไทย จะขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มศักยภาพภายใต้มาตรฐานการจัดงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในยุคที่ดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) เข้ามามีอิทธิพลสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และมีข้อมูลที่หลากหลาย แต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้เราใช้เผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่มากมาย ผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย อย่างในช่วงการระบาดของโควิด-19 สสส. ได้มีการนำคู่มือการฉีดวัคซีนโควิด-19 การทำ Home Isolation หรือ Community Isolation เผยแพร่ในระบบออนไลน์ ก็มีประชาชนเข้ามาดาวน์โหลดมากถึง 7 ล้านคน นอกจากนั้น สสส. ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศ “Persona Health สื่อเฉพาะคุณ” ซึ่งเป็นระบบคลังของสารและเครื่องมือสร้างสุขภาพที่มีการรวบรวมชุดความรู้ คู่มือ แอปพลิเคชั่นและสื่อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 10,000 ชิ้น โดยมีการนำมาจัดกลุ่มให้เหมาะสมกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น จัดกลุ่มเพศ อายุ ประเด็นสุขภาพ โรคประจำตัว โดย สสส. ได้ร่วมมือกับ สปสช. ใช้ปัญญาประดิษฐ์นำสารและเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสม ส่งตรงเข้าสู่โทรศัพท์มือถือรายบุคคลอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 มกราคม 2565 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ 1 – 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.thailandhealthexpo.com Facebook : Thailand International Health Expo 2022 หรืออีเมล์ info@thailandhealthexpo.com