เช้าวันจันทร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลาง(เก่า) จังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัดภูเก็ต นำโดยนายปิยะพงษ์ ชูวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัติ อารีรอบ นายกองค์การบริหารจังหวัดภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และผู้นำภาคเอกชนภูเก็ตรวม 16 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าว “การแสดงจุดยืนของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและมติ กรอ. จังหวัดภูเก็ตในเรื่องข้อสรุปเรื่องรถไฟฟ้ารางเบาหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564”
การประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ที่กระทรวงคมนาคมมอบ หมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งมีข้อสรุปว่าจะเปลี่ยนแปลงรถไฟฟ้ารางเบาจากล้อเหล็กเป็นล้อยาง เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างถูกกว่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทนั้น ได้เกิดปัญหาขึ้นมาว่าภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตยังไม่ยอมรับว่าเป็นความเห็นร่วมที่จะใช้เดินหน้าโครงการต่อไป เนื่องจากขัดกับความต้องการของคนในพื้นที่ ขัดกับมติกรอ.ภูเก็ต และรฟม.ยังให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นน้อยมาก
นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ภาคเอกชนภูเก็ตต้องการแจ้งต่อรฟม.คือ 1.คนภูเก็ตต้องการสร้างรถไฟฟ้าให้เร็วที่สุด หากเกรงว่าจะมีปัญหาการจราจร ทางจังหวัดก็พร้อมจะร่วมมือกันแก้ปัญหาดังเช่นที่เคยมีประสบการณ์ช่วงสร้างอุโมงลอดทางแยก 2.ประเภทของรถไฟฟ้าจะเป็นล้อเหล็กหรือล้อยางนั้น รฟม.ควรเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้แก่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคนภูเก็ตต้องการให้รฟม.นำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดและชัดเจนอีกครั้ง 3.แผนการก่อสร้างนั้นทางภูเก็ตต้องการให้ดำเนินการทั้งเฟส1 และเฟส 2 ต่อเนื่องให้ทันงาน World Specialised Expo ในปี 2571
ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรฟม. ซึ่งคนภูเก็ตไม่ได้ติดขัดว่าจะเป็นล้อยางหรือล้อเหล็ก เพียงแต่ต้องการรายละเอียดงานวิจัยและเอกสารที่ชัดเจนหากจะเปลี่ยนจากล้อเหล็กเป็นล้อยางดีกว่ากันอย่างไร และก็ไม่อยากให้มองเพียงต้นทุนการก่อสร้างว่าล้อยางถูกกว่าล้อเหล็ก เพราะถึงแม้ว่าล้อยางอาจจะถูกกว่าในด้านต้นทุนการก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาระยะยาวอาจจะแพงกว่า ประกอบกับบริษัทก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบล้อยางปัจจุบันก็มีไม่กี่บริษัท ซึ่งเราก็ไม่คุ้นเคยหรือรู้จักรายละเอียดของแต่ละบริษัทมากนัก ผิดกับระบบล้อเหล็กซึ่งเป็นที่นิยมของทั่วโลก มีบริษัทก่อสร้างให้เลือกใช้บริการจำนวนมาก ขณะที่พิมพ์เขียวโครงการนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ออกแบบไว้หมดแล้ว เป็นการออกแบบก่อสร้างด้วยล้อเหล็ก ถ้าจะปรับเป็นล้อยางก็ต้องเริ่มต้นเขียนแบบกันใหม่ เกรงว่าเวลาโครงการจะยืดยาวออกไปอีกหลายปี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อจังหวัดภูเก็ตและประเทศชาติ
“ตามกำหนดการเราต้องการให้โครงการรถไฟรางเบาภูเก็ตเปิดใช้ได้ภายในปี2568 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเที่ยวภูเก็ตหลังผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 รวมถึงจะมีการจัดงานใหญ่ระดับโลกคือ World Specialised Expo 2028 ที่รัฐบาลเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงานในปี 2571 ซึ่งคาดว่าจะมีคนมาชมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้ในช่วงงานประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขเวลาตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก” นายธนูศักดิ์กล่าว
สำหรับต้นทุนการก่อสร้างรถไฟรางเบาปัจจุบันมี 3 รูปแบบคือ 1.รถไฟรางเบาล้อเหล็ก ต้นทุนการก่อสร้างประมาณ 3 หมื่นล้านบาท 2.รถไฟรางเบาล้อยางแบบชาร์จครั้งเดียววิ่งทุกสถานีประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และ 3.รถไฟรางเบาล้อยางแบบชาร์จทุกสถานี ต้นทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
“เราเข้าใจว่ารถไฟฟ้ารางเบาล้อเหล็ก 3 หมื่นล้านบาท ถ้าเปลี่ยนมาเป็นล้อยางแบบชาร์จทุกสถานีเหลือ 2 หมื่นล้านบาท เราก็โอเคนะ แต่ถ้าต้องกลับไปศึกษาใหม่อีก 6 ปีมันจะยังเป็น 2 หมื่นล้านหรือเปล่า ก็ต้องกลายเป็น 2.5 หมื่นล้าน และถ้าศึกษาใหม่อีก 6 ปีเสร็จช้ากว่าปี 68 ไปอีก 6 ปี ถึงวันนั้นประชาชนจะเป็นอย่างไร ความจริงเงินลงทุนที่ต่างกันหมื่นกว่าล้านไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นการลงทุนแบบพีพีพี (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน Public-Private Partnership : PPP) เอกชนลงทุนก่อสร้างไปก่อน เสร็จเมื่อไหร่รัฐค่อยจ่ายในส่วนของรัฐ และที่สำคัญในต่างประเทศก็พิสูจน์ว่าการบำรุงรักษาในระยะยาวล้อเหล็กถูกกว่าล้อยาง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ถ้า รฟม.มีรายละเอียดงานวิจัยชี้ว่าล้อยางมีการบำรุงรักษาที่ไม่แพงกว่าล้อเหล็กหรือว่าถูกกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ชาวภูเก็ตก็รับได้ แต่อยากได้คำอธิบายให้เห็นภาพเหล่านี้อย่างชัดเจน” ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตกล่าว
นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าคนภูเก็ตเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบามากว่า 20 ปี และรัฐบาลก็ได้เห็นความจำเป็นแล้วว่าต้องมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพมารองรับนักท่องเที่ยวปีละ 15 ล้านคน ไม่ใช่มีแค่ถนนหลักเส้นเดียวที่มีปัญหามาก ระบบรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นเทคนิคใดก็ได้เรายินดี แต่ขอให้มีความปลอดภัย มีความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้ อยากให้รฟม.นำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนก่อนการตัดสินใจ เพราะนี่คือระบบขนส่งที่เอามาใช้รองรับนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก