10 เรื่องความตกลงอาร์เซ็ป เริ่มใช้ประโยชน์ 1 ม.ค.65

482

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ประกอบด้วย สมาชิก 15 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และคู่เจรจา 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ความตกลงอาร์เซ็ปถือเป็นกรอบการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก

            ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันให้สัตยาบันความตกลงครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้า ลดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาค และอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนหน้าแล้ว ด้วย 10 ความตกลงสำคัญ ประกอบด้วย  

  1. สมาชิกอาร์เซ็ปยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ
  2. เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
  3. ลดความซ้ำซ้อนเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถเลือกนำเข้าวัตถุดิบที่หลากหลายจากประเทศสมาชิก
  4. ปรับพิธีการศุลกากรให้รวดเร็ว ตรวจปล่อยสินค้าภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายใน 48 ชั่วโมงสำหรับสินค้าทั่วไป และภายใน 6 ชั่วโมงสำหรับสินค้าเร่งด่วน
  5. ผู้ส่งออกมีโอกาสรับทราบมาตรการเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าใหม่ๆของผู้นำเข้าล่วงหน้า และมีโอกาสให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว
  6. มีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน หากได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จากการทะลักเข้ามาของสินค้าจากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป
  7. สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคีอาเซ็ป ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง ด้วยการลดหรือยกเลิกระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทั้งภาคบริการและภาคที่ไม่ใช่บริการ ดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการ เช่น วิจัยและพัฒนา บริการปกป้องสิ่งแวดล้อม การศึกษา ซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน/เรือขนาดใหญ่/อุปกรณ์ขนส่งทางราง/การผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม
  8. อำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การอำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ กำหนดแนวทางคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยคำนึงถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการมีบทบัญญัติที่ทันสมัย
  9. ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าไร้กระดาษ สร้างสภาพแวดล้อมให้มีความเชื่อมั่นในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีกฎหมายและกฎระเบียบในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์จากการกระทำที่ฉ้อฉลและหลอกลวง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์
  10. เสริมสร้างความร่วมมือให้ SMEs มีความเข้มแข็งในเรื่องการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎและระเบียบทางการค้าที่สะดวกและโปร่งใส ปรับปรุงการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่ระบบห่วงโซ่มูลค่าโลก