ครูช่างศิลปหัตถกรรม เป็นบุคคลผู้มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรม และรักษาคุณค่าองค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่สะท้อนในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ดำรงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ สร้างสรรค์หรือต่อยอดเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้ตระหนักและเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนา สร้างสรรค์ต่อยอดสร้างงานศิลปหัตถกรรมด้วยทักษะฝีมือที่มีความละเอียด ประณีต และงดงาม
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT คัดสรรบุคคลระดับช่างฝีมือ และช่างฝีมือขั้นสูงที่มีผลงานยอดเยี่ยมด้านศิลปหัตถกรรมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2562 มีผู้ที่ได้รับการเชิดชู จำนวน 10 คน ประกอบด้วย
1.นายอำพัน น่วมนุ่ม เป็นผู้บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทำ “เครื่องจักสานหวาย” ลายเล็กละเอียดและตะกร้าหวายที่มีฝาปิดแบบหลังเต่าที่มีเพียงคนเดียวในจังหวัดลพบุรีที่สามารถทำฝาปิดหลังเต่าได้
2.ครูทองใบ เอี่ยมประไพ ผู้สืบสานต่อภูมิปัญญางาน “ผ้าทอสี่เขา” ที่มีกลิ่นอายทางวัฒนธรรมไทยวน-เสาไห้ แบบดั้งเดิมอยู่ในทุกผืนผ้า เป็นเวลากว่า 40 ปี
3.นางณิษา ร้อยดวง ผู้อนุรักษ์และสืบสานงานทอ “ผ้ายกมุก” ผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของชาวไทยวน-เสาไห้ที่มีมากว่า 200 ปีที่เสี่ยงต่อการสูญหาย
4.นายศุภชัย เขว้าชัย ผู้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตสืบสานและสร้างงาน “ผ้าไหมมัดหมี่” ตามแบบวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนบ้านเขว้าที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานกว่า 200 ปีของจังหวัดชัยภูมิ มีความโดดเด่นที่ใช้สีย้อมที่แต่ละผืนมีสีที่มีความแตกต่างกัน
5.นางสำเนา จบศรี ผู้สืบทอดงานทอ “ผ้าซิ่นตีนจก” ตามแบบวัฒนธรรมของชาวลาวครั่ง บ้านกุดจอก จังหวัดชัยนาท ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษยาวนานมากว่า 100 ปี
6.นางสุพัตรา ชูชม ผู้มีความผูกพันอยู่กับเสียงกระทบฟืนในชุมชนของชาวไทยวน-เสาให้ มาตั้งแต่เกิด อนุรักษ์ “ผ้าซิ่นตีนจก” ผ้าทอในวัฒนธรรมของคนไทยวน เสาไห้ โดยใช้การจกด้วยขนเม่นที่เคยสูญหายไปกว่า 100 ปี ให้กลับมามีชีวิตถึงในปัจจุบัน
7.นายยรรยงค์ คำยวง สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญางานแกะสลักไม้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการ “แกะสลักสามมิติ” ที่มีลวดลายละเอียด วิจิตร ซับซ้อนมีเอกลักษณ์โดดเด่นทุกชิ้นงาน
8.นายไพโรจน์ สืบสาม ช่างผู้มีฝีมือสร้างสรรค์งาน “เครื่องประดับทองโบราณ” ได้อย่างประณีต ละเอียด งดงามเหมือนเครื่องทองโบราณในแบบฉบับของสกุลช่างไทยที่มีมาหลายร้อยปี
9.นายสำเนียง หนูคง เป็นผู้ที่มีฝีมือและความชำนาญด้านการทำงาน “สลักดุน” ที่ละเอียด ประณีต อนุรักษ์และสืบสานเทคนิคและการทำงานสลักดุนโลหะแบบดั้งเดิมไว้ทั้งหมด
10.นายเชวง โล่เจริญสุขเกษม ผู้มีทักษะความสามารถเฉพาะตัวในการสร้าง “เรือโบราณจำลอง” จากเรือทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 100 แบบ จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกว่าเป็น “เรือจำลอง” ที่มีความเหมือนสมจริงติด 1 ใน 10 ของโลก
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ได้เล็งเห็นความสำคัญการที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ด้วยความสำคัญดังกล่าวนี้ SACICT จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา