10 สินค้า GI โดดเด่นปี 64 พลิกโฉมของดีจากชุมชนสู่ระดับพรีเมี่ยม

1124

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การส่งเสริมและพัฒนาสินค้า GI เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญ  กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI โดยดึงนักออกแบบมากประสบการณ์ร่วมพัฒนาภาพลักษณ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ให้มีความโดดเด่น สร้างการจดจำตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นสินค้า GI ให้ยังคงอยู่กับตัวบรรจุภัณฑ์ โดยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI พร้อมก้าวสู่ตลาดพรีเมียม  หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและตลาดต่างประเทศ”

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI เป็นโครงการที่ดำเนินการ         อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2560 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้ผู้ประกอบการ GI ขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น โดยในปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ถึง 83 ราย และผ่านการคัดเลือก 10 ราย ได้แก่

1. กาแฟเมืองกระบี่

2. นิลเมืองกาญจน์

3. กล้วยเล็บมือนางชุมพร

4. แปจ่อเขียวแม่สอด

5. ผ้าหม้อฮ่อมแพร่

6. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ  

7. ส้มโอหอมควนลัง

8. สังคโลกสุโขทัย

9. ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี

10. ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะมีโอกาสร่วมหารือกับนักออกแบบชื่อดังและกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรตั้งแต่แนวคิดการพัฒนาบรจจุภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นสินค้า GI ไปจนถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่าย ยกระดับสินค้า GI สู่ตลาดต่างประเทศต่อไป คาดพร้อมวางจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ภายในสิ้นปีนี้”

ด้านนายวุฒิไกร  ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เสริมว่า “สำหรับปีนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาดึงนักออกแบบมืออาชีพมากความสามารถมาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้า GI อาทิ คุณปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ นักออกแบบที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำอย่างจิมทอมสัน คุณนันทชัย สันทัดการ นักออกแบบ ผู้ก่อตั้ง Design Sense Limited Partnership ผู้ซึ่งกวาดรางวัลด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากว่า 20 รางวัล   เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมข้ามผ่านสถานการณ์การค้าในยุค New Normal ต่อไป”