โมเดล 6 เศรษฐกิจกระแสใหม่ หนุนธุรกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด

347

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED จัดแถลงข่าวและการสัมมนา “พลิกเมือง ด้วย 6 เศรษฐกิจกระแสใหม่ ขุมกำลังขับเคลื่อนประเทศไทย” ด้วยโมเดล 6 เศรษฐกิจกระแสใหม่ พร้อมบ่มเพาะพัฒนายกระดับศักยภาพ SME ไทยให้เติบโต มั่นใจโมเดลนี้จะเกิดพลังหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

โดยได้รับเกียรติจากนายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานฯ ในงานและกล่าวนำการสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางของกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน SMEs ภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่” มีผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้มีเกียรติร่วมงาน ภายใต้มาตรการระวังการแพร่ระบาดตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงติดตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์จำนวนมาก

โดยกิจกรรมนี้เกิดจากการที่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระแสใหม่ โดยเน้นย้ำถึงแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจให้ทันโลกสมัยใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมเปรียบเสมือน               หัวขบวนรถ และมีสถาบันเครือข่ายต่าง ๆ ช่วยขับเคลื่อนไปในทิศทางของกระแสโลก วางเข็มทิศชี้ทางให้ธุรกิจก้าวข้ามอุปสรรคชี้ช่องทางแห่งโอกาสเสริมความแกร่งด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง การนำ BCG Economy มาปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้ไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ ISMED เปิดเผยภายในงานว่า แม้ว่าทุกวันนี้ภาคเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตผู้คนทั่วโลกเริ่มมีปรับตัวได้ รัฐบาลหลายประเทศ เริ่มลดมาตรการคุมเข้มลงมา
เป็นลำดับ แต่ยังคงกฎระเบียบและมาตรการทางสาธารณสุขไว้ เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน
แต่สิ่งที่สำคัญ คือ จะขับเคลื่อนอย่างไร จึงจะสามารถอยู่รอด และเติบโตได้เข้มแข็ง

นายธนนนทน์ กล่าวต่อไปว่า“สถาบันฯได้ทำการศึกษาและค้นหา เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ และมองฉากทัศน์ที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างการเจริญเติบโตและมีความเป็นไปได้ มีแนวโน้มไปทิศทางใด กระทั่งมีการจัดทำ “บทสรุปแนวทางการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดดด้วย 6 เศรษฐกิจกระแสใหม่” เพื่อให้ภาคธุรกิจและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบในปรับตัวหรือประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับทิศทางใหม่นี้  โดยในปีนี้ สถาบันฯ ได้พัฒนา 2 เครื่องมือ Smart Solutions เพื่อเร่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ

1) แพลทฟอร์ม Smart Data เป็นเครื่องมือ Intelligence Analyst วินิจฉัย-รายงานผลเป็น SME Dashboard เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจและแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น ทำให้เห็นศักยภาพเมื่อเทียบเคียงกันในอุตสาหกรรมเดียวกันได้              

 2) แพลทฟอร์ม Big Step (https://www.bigstepgo.com) เป็น Smart Tools ช่วย Up-skill แบบself-learning โดยเหนือชั้นกว่าด้วยการรวมเครื่องมือเบ็ดเสร็จในที่เดียวแบบ one stop มีทั้งความรู้และ คลัง Data ที่สำคัญ นอกจากนี้ จะขยายไปสู่ซีรี่ส์ของการพัฒนา Future Skill รองรับเศรษฐกิจอนาคตต่อไป

โอกาสนี้ นายธนนนทน์ ยังได้เปิดเผยถึงบทสรุปดังกล่าวด้วยว่า “เราได้ทำการศึกษาข้อมูลสำคัญ
จากต่างประเทศ และเทียบเคียงกับ สภาพประเทศไทยเอง การถอดรหัสธุรกิจที่ปรับตัวและสร้างการเติบโตได้อย่างสูง ตลอดช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาไปจนถึง แนวโน้มและพฤติกรรมของ ผู้บริโภคจะเป็นไปในทิศทางใด และธุรกิจจะเรียนรู้จากเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ในงานนี้ สถาบันฯ จึงได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับภาคธุรกิจ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จนสามารถเสนอฉากทัศน์ใหม่ ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเศรษฐกิจ       กระแสใหม่ใน 6 มิติที่สำคัญ ได้แก่

  1. Indoor Economy: ระบบเศรษฐกิจการใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่มากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น สินค้าและบริการรองรับการทำงานอยู่ที่บ้าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมพักผ่อน สันทนาการและงานอดิเรก ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการเดินทางออกจากบ้านน้อยลง
  2. Care Economy: ระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากความต้องการในการดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ที่มากขึ้น ของผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มวัยทำงานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจดูแลสุขภาพ อาหาร การท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลที่ช่วยในการดูแลสุขภาพ  
  3. Domestic Economy: ระบบเศรษฐกิจที่กลับมาให้ความสำคัญกับผู้บริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศทำได้ยาก จึงเกิดสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของคนภายในประเทศ เช่น สินค้าและบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ทดแทนการท่องเที่ยวในต่างประเทศ สินค้าและบริการที่สร้างประสบการณ์ใหม่ (Unseen) โดยใช้ทรัพยากรทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
  4. One Planet Economy: ระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนตระหนักมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้า บริการ และการดำเนินธุรกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าและบริการที่เกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าและบริการที่ลดขยะและการใช้พลังงาน  
  5. Virtual Economy: ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างประสบการณ์บนโลกเสมือนจริงให้มีคุณค่าเทียบเท่าประสบการณ์จริง รองรับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้ชีวิต ที่มีผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เช่น สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนบนโลกเสมือนจริง สินค้าและบริการเดิมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายตลาดบนโลกเสมือนจริง
  6. Up-skill Economy: ระบบเศรษฐกิจรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากเกิดความตระหนักในการแสวงหาความรู้ทักษะใหม่ๆ ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อสร้างความอยู่รอด ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ทักษะใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เช่น จากธุรกิจผลิตสินค้าและบริการต่อยอดสู่ธุรกิจการให้ความรู้ทักษะเพื่อการสร้างอาชีพ ธุรกิจการศึกษาที่พัฒนาหลักสูตรรองรับอาชีพสมัยใหม่

จากนั้น นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ“ทิศทางของกระทรวงอุตสาหกรรมและการขับเคลื่อน SMEs ภายใต้ในเศรษฐกิจยุคใหม่” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้เห็นถึงการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข็งแกร่งได้ในสภาพการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ไฮไลท์ในงานเสวนานั้นมีหลายหัวข้อด้วยกัน ได้แก่ “Power up SMEs towards Next Boom” โดยได้รับเกียรติจาก Biz Leaders หลายมุมมอง ได้แก่ นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เผยแนวคิดการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ SMEs ด้วยโซลูชั่นทางการเงิน เพื่อช่วยให้ SME มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงแนวทางการปรับระบบการเรียนรู้เพื่อคนรุ่นใหม่ สำหรับสภาพแวดล้อมของประเทศที่เปลี่ยนไป, นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) เล่าถึง ความท้าทาย และโอกาสของ Future of health and wellness for Thailand ขณะที่ นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถอดรหัส SME in Digital Transition Stage
จะไปต่อได้อย่างไร โดยมี ดร.ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้ดำเนินเสวนา

จากนั้น นายปรัชญา เพิ่มทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโอกาสทางธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “The 6 new Economies after covid-19 : Challenge & Opportunity”

นอกจากนี้อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน คือ การลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) นำโดยนายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb)  ท่ามกลางสักขีพยานทั้งออนไซต์และรับชมผ่านออนไลน์ ที่ร่วมพัฒนาบ่มเพาะศักยภาพ SME ผ่านโครงการเสริมแกร่งให้ธุรกิจอย่าง finbiz by ttb พร้อมสนับสนุนด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินและดิจิทัล โซลูชันที่ตอบโจทย์ SME อันจะนำไปสู่โมเดลการเติบโตในเศรษฐกิจตัวใหม่  และสามารถมองหาน่านน้ำแห่งโอกาสใหม่ ๆ ของปี 2022