‘โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย’ คิดนวัตกรรมมุ้งนาโนไนลอนกันฝุ่น PM 2.5

1547

นางสาวพิมลรัตน์ สินประเสริฐสุข (น้องฟรองซ์) คณะบัญชี ชั้นปีที่2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทีม โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย ทีมชนะเลิศประเภท “Winner Best Innovation”และรางวัล “Popular Vote” กล่าวถึงผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย “นาโนมาร์ค” ทำจากมุ้งนาโนไนลอนที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจากทีมวิจัยนำโดยนาย อี้ว์ ซูหง อาจารย์จาก มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) เมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย ทางจีนตอนกลาง สามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้ 99.65% ว่า “ จุดเริ่มต้นตอนแรกที่ทางอาจารย์ให้คิดปัญหาทีมเราก็เลยคิดเริ่มจากปัญหาที่เกิดจากตัวเราเองก่อน คือเวลาใส่หน้ากากอนามัยแล้วมันชอบหายใจไม่สะดวก เลอะเครื่องสำอาง ทีมจึงออกไปสอบถามคนข้างนอกว่าเป็นเหมือนกันไหม ซึ่งผลตอบรับที่ได้มาไม่ใช่แค่เลอะเครื่องสำอางเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้รู้สึกหายใจลำบาก รวมถึงหน้ากาที่สามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้นั้นก็มีราคาสูง เป็นปัญหาทั้งหมดที่นำมาเลือกสร้างผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย “นาโนมาร์ค” ทำจากมุ้งนาโนไนลอนขึ้นมา โดยตัววัสดุมาจากมุ่งลวดของประเทศจีนที่เรียกว่ามุ้งนาโนไนลอนที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าสามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้ 99.65% ซึ่งมีแค่ประเทศจีนเท่านั้นที่ผลิตได้ในตอนนี้ ราคาถ้าคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 480บาท/7.5 ตารางเมตร โดยนำคุณสมบัติของมุ้งลวดนี้มาประดิษฐ์เป็นหน้ากากอนามัย ซึ่งแตกต่างจากหน้ากากอนามัยตามท้องตลาดทั่วไปที่ใช้กันอยู่ คือจะใช้เป็นเส้นใยที่ผ่านการทอมาอย่างละเอียด ซึ่งนอกจากจะช่วยกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กได้แล้วยังทำให้หายใจได้สะดวกสบายมากขึ้น

นางสาววิสุทธินันท์ สมบูรณ์พร้อม คณะบัญชี ชั้นปีที่ 2,นางสาวอรทิพย์ กีรติอรัญกุล คณะบัญชี ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทีม โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย กล่าวว่า ได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบของเราไปให้ทดลองใช้ ผลตอบรับที่ได้ คือ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ใส่แล้วไม่ร้อนอึดอัด เพราะตัวหน้ากากมีความโปร่ง ส่วนเรื่องของราคานั้นมีราคาที่ถูกมาก โดยตั้งราคาต่อชิ้นไว้ที่ 200 บาท แต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เฉลี่ยการใช้งานต่อวันไม่ถึง 1 บาท โดยแผนในอนาคตทีมอยากจะสั่งมุ้งนี้จากประเทศจีนมาใช้ในการทดลองทำแบบจริงจัง โดยอาจร่วมพัฒนากับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่าสามารถพัฒนาต่อยอดอะไรได้บ้างจากมุ้งตัวนี้ เพราะตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบค่อนข้างได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“พวกเราต้องลงพื้นที่เยอะมาก และต้องทำซ้ำทำหลายรอบมาก พอได้รางวัลมาก็ทำให้เรารู้สึกว่าคุ้มค่ากับความตั้งใจที่เราเหนื่อย รู้สึกว่าความคิดทางนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ที่สำคัญยังสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อีกด้วย” ทีม โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย กล่าวทิ้งท้าย