กระแสรักษ์โลก กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในทุกอุตสาหกรรม รวมถึง อุตสาหกรรมอาหาร มนุษย์เริ่มรู้สึกผิดต่อการบริโภค เนื้อสัตว์
หลายคนบริโภคน้อยลง และ หลายคน หยุดบริโภค หรือยกเลิกการกินสัตว์ใหญ่ แล้วหันมาสู่การบริโภคสัตว์เล็กๆ เช่น แมลง ที่มีโปรตีนไม่แพ้สัตว์ใหญ่
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผย ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางสินค้าอาหารที่กำลังมาแรง พบว่าสินค้าตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติหรือกลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ (กลุ่มวีแกน) และสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้บริโภคให้ความนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น สินค้าดาวรุ่ง ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี จากการเข้าไปสำรวจตลาดนวัตกรรมอาหารภายในงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ในเมืองโคโลญจ์ พบว่าสินค้าอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการนำมาผลิตเป็น นม เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เนื้อเบอเกอร์ ไข่เหลวที่ทำจากถั่วเขียว และเบคอนทำจากเห็ด เป็นต้น โดยกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกว่า..วีแกน
ไม่ใช่เพียงโปรตีนจากพืชเท่านั้น ที่จะนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์อย่างไก่ หมู หรือ วัว แต่โปรตีนจากแมลง เช่น จิ้งหรีด หนอนนก ก็ถูกนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นสินค้ามีนวัตกรรม ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม มีความอร่อย มีโปรตีนสูง โดยมองกันว่าจะเป็นโปรตีนแห่งอนาคต
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มผลิตออกจำหน่ายแล้ว เช่น เนื้อเบอเกอร์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากหนอนนก ผักขม ขมิ้น และ บีทรูท วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์ และ เยอรมนี ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยที่ปลูกพืชโปรตีน หรือ เพาะเลี้ยงแมลง จึงควรศึกษาแนวโน้มของตลาด และหาทางผลักดันการส่งออก โดยสามารถส่งออกทั้งสินค้าที่ผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป หรือส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า นำไปผลิตเป็นสินค้าต่อไป