โค้งสุดท้าย…สภา“บิ๊กตู่” รอคลอดกฎหมายปฏิรูปที่ดินฯ

361

โดย ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง

          เป็นที่ประจักษ์ว่า กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2518 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 47 ปี ได้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว

          เพราะการไปจำกัดให้ที่ดินส.ป.ก.ใช้เฉพาะการทำเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้นั้น ก่อปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก มิได้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

          เนื่องด้วยที่ดินส.ป.ก. บางพื้นที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม

         บางพื้นที่หากนำไปทำอย่างอื่นจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณะประโยชน์ในหลายๆด้านและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

          ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและบัดนี้ร่างกฎหมายได้เสร็จสิ้นแล้ว หลังเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงต้นปี 2565 ร่างกฎหมายนี้ ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ…..”

         สาระในร่างกฎหมาย เป็นการยกเครื่องกฎหมายปฏิรูปที่ดินฯ นำไปสู่การพลิกโฉมการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ นั่นคือ

          กำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพของที่ดิน พื้นที่ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยยังคงหลักการสำคัญในการใช้พื้นที่ประกอบเกษตรกรรม

         ทั้งนี้ ที่ดินที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม แต่มีคุณค่าในการทำกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุน เช่น พลังงาน กังหันลม โลจิสติกส์ เหมืองแร่ คมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว เป็นต้น แต่สามารถเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตหรือระบบนิเวศน์ของเกษตรกรรม ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ตั้งแต่ถูกโรคระบาดโควิดซ้ำเติมมาตลอด  2 ปีครึ่ง

           สิ่งที่เป็นกังวลของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือ  เมื่อไหร่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ?

          ตามขั้นตอน ร่างกฎหมายการปฏิรูปที่ดินฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าของเรื่อง จะต้องเสนอร่างกฎหมายนี้ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

          ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเร่งเครื่องผลักดันอย่างจริงจังให้สมกับความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็นนโยบายสำคัญฯที่จะต้องทำให้สำเร็จก็เชื่อว่าจะไม่ใช้เวลานาน

          เนื่องเพราะร่างกฎหมายนี้เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วย “การปฏิรูปประเทศ” ด้วยเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเร่งเครื่องเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญและส่งผลได้รวดเร็วทันที จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเสนอตรงไปให้รัฐสภาพิจารณาผ่านช่องทางพิเศษนี้ได้เลย

          ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจัง ต้องการจะสร้างผลงานชิ้นโบว์แดง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะทุกฝ่ายต่างก็เห็นพ้องในหลักการและเหตุผล สนับสนุนสาระในร่างกฎหมายนี้อยู่แล้ว

          ขณะนี้ สภาได้เปิดสมัยประชุมสามัญแล้วตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะไปปิดสมัยประชุมวันที่ 19 กันยายน 2565 รวมเวลาเปิดสมัยประชุม 120 วัน         

          ยิ่งเสนอเข้ารัฐสภาเร็วเท่าไร กฏหมายก็จะเสร็จเร็วเท่านั้น

          แต่ความผันผวนไม่แน่นอนทางการเมืองอาจบังคับให้เกิดการยุบสภาก็เป็นได้ ซึ่งจะกระทบต่อร่างกฎหมายนี้ทันที

        แทนที่รัฐบาลจะได้แต้ม ได้รับคำชื่นชมว่าปฎิรูปที่ดินได้สำเร็จ สามารถนำพาเศรษฐกิจไปสู่การพลิกฟื้น ก็จะกลายเป็นเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย

          นี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่รัฐบาลควรจะเร่งเสนอร่างกฎหมายปฎิรูปที่ดินฯ ประชาชนทั้งเกษตรนับล้านคน เอกชน กิจการสาธารณะประโยชน์ พลังงาน แร่ธาตุ กำลังรอการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจจากทรัพยากรแผ่นดินทั้งบนดิน ใต้ดิน และการพัฒนาแหล่งน้ำ จาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้