แนวทางการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน…by econ

1984

ปัญหาของผู้ประกอบการประการหนึ่งคือ การขาดความรู้ในการเตรียมโครงการเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินผู้ประกอบการบางรายมีโครงการที่ดี แต่กลัวปัญหาความยุ่งยากในการเตรียมโครงการ จึงหันไปหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง

บางรายยอมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อเตรียมข้อมูลในการนำเสนอโครงการ

ทั้งที่ความจริง การยื่นโครงการเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

แต่ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายรายไม่ผ่านการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เนื่องจาก

ขาดความพร้อมในการจัดทำโครงการ

ผู้ประกอบการบางรายมีธุรกิจหลายอย่าง ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่เจ้าหน้าที่สถาบันการเงินได้ว่าต้องการจะทำเรื่องใดแน่ ทำให้สถาบันการเงินมองว่าผู้ประกอบการขาดความพร้อม

ขาดความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ เช่น

การตลาด ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้า เป้าหมายทางธุรกิจ ตลอดจนข้อมูลในการจัดจำหน่าย และระบบการจัดจำหน่ายที่ดี

การผลิต ขาดแผนการผลิตที่ชัดเจน ทั้งเรื่องกระบวนการผลิต ประเภทเครื่องจักรที่ใช้ หรือ ต้นทุนการผลิต

การเงิน ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่า จะใช้เงินลงทุนมากน้อยเพียงใด ระยะเวลาการคืนทุนเป็นอย่างไร

การจัดการ ไม่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจที่จะลงทุน หรือเป็นกิจการขนาดใหญ่ แต่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว ทำให้ทางสถาบันการเงินมองว่ามีความเสี่ยงในการจัดการ

ขาดความเหมาะสมเรื่องเงินลงทุน

บางบริษัทต้องการใช้เงินสร้างโรงงานค่อนข้างสูง แต่วิเคราะห์ลึกพบว่า กิจการไม่จำเป็นต้องลงทุนในการก่อสร้างโรงงานมากเท่าที่ประมาณการไว้ เพราะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากเกินความจำเป็น

ขาดหลักประกัน

ต้องการขอให้สถาบันการเงินสนับสนุนธุรกิจแต่ไม่มีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันเลย เช่น ออฟฟิศอยู่ในพื้นที่เช่า เครื่องจักรอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ ทำให้สถาบันการเงินไม่สมารถให้เงินสนับสนุนได้

นอกจากนี้ ปัญหาและอุปสรรคในการขอกู้เงินของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พร้อมของตัวผู้ประกอบการในหลายๆด้าน ตัวอย่างเช่น เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ขาดประสบการณ์ ขาดความเข้าใจในการทำธุรกิจที่ดีพอ มีระดับภาระหนี้เกินตัว เป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล ขาดการทำระบบบัญชีที่น่าเชื่อถือ ขาดหลักฐานสำคัญในการยื่นประกอบคำขอกู้ เช่น สัญญาเงินกู้ ใบส่งสินค้า สัญญาการซื้อขาย เป็นต้น

องค์ประกอบสำคัญที่สถาบันการเงินจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้แก่ ความสามารถของตัวผู้ประกอบการ แผนธุรกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งสรุปได้ใน 8 ประการคือ

  1. ผู้ประกอบการมีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ
  2. มีความเหมาะสมและความจำเป็นในการกู้
  3. มีความพร้อมและความโปร่งใสด้านข้อมูล
  4. สามารถแสดงหลักฐานประกอบ เช่น สัญญาเงินกู้ สัญญาซื้อ
  5. มีประสบการณ์และมีการศึกษาในรายละเอียดของธุรกิจ
  6. มีเงินทุนของตัวเองขั้นต่ำ 20%
  7. มีหลักประกัน เช่น หลักทรัพย์ หนังสือค้ำประกันการโอนสิทธิการรับเงิน
  8. มีความสามารถในการชำระหนี้

ทั้งนี้เอกสารประกอบการกู้ที่สำคัญที่สุดคือ แผนธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย แผนงานด้านการตลาด แผนการผลิต แผนงานด้านบุคลากร และแผนงานด้านการเงิน ซึ่งแผนธุรกิจนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการทำธุรกิจได้อย่างเป็นระบบรอบคอบและครบวงจรแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ให้กู้เข้าใจธุรกิจของผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น สามารถวิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการใช้คืนเงินกู้ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไม่ควรมุ่งเน้นการระดมทุนจากการกู้เงินเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเริ่มธุรกิจใหม่และไม่มีประสบการณ์ เพราะจะทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น กลับต้องมานั่งปวดหัวกับเรื่องดอกเบี้ยที่ขึ้นเอา..ขึ้นเอา

อันจะนำไปสู่การล้มไม่เป็นท่าของธุรกิจที่ปั้นมากับมือ