แข่งขันหุ่นยนต์ ‘อาชีวะ’ สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

1894

ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของ สอศ.คือ การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจร่วมกันในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ซึ่งวันนี้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา (วจด.) จับมือกับสมาคมเวิลด์ไดแด็ก (WORLDDIDAC Association) ร่วมกันดำเนินการจัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 “Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology” ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2561     ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นเวทีประลองฝีมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ของนักศึกษาสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

การแข่งขันครั้งนี้ สอศ.ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วม นับเป็นโอกาสดีที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ของ นักเรียน นักศึกษาในสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ทั้งด้านการฝึกทักษะ การควบคุมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์เชื่อมในระบบอุตสาหกรรม การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักร หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการควบคุมการสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้งยังมีแนวโน้มในอนาคตว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานทักษะระดับพื้นฐาน สอศ.เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อให้มีทักษะระดับสูง โดยผ่านเวทีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ได้ใช้องค์ความรู้ในการปฺฎิบัติจริง เรียนรู้ทักษะ เทคนิคและความรู้ที่ทันสมัยจากอุปกรณ์ เครื่องมือ หุ่นยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีสถานศึกษาสังกัด สอศ. จำนวน 29 แห่ง รวมทั้งจากสถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวพร้อมสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัย เรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักร หุ่นยนต์ ที่ใช้ระบบควบคุมสั่งการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ระบบการควบคุมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นจำนวนมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการแข่งขันฯ นับเป็นการยกระดับคุณภาพครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษาจากเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอด และอบรมให้เกิดทักษะ ความชำนาญ สามารถปฏิบัติงานได้จริง

สำหรับการจัดการแข่งขันฯ จะจัดขึ้นภายในงานนิทรรศการสื่อการสอนใหม่ “เวิลด์ไดแด็ด เอเซีย2018” (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology) ซึ่งเป็นการแสดงสื่อเทคโนโลยีนานาชาติเพื่อการศึกษาชั้นนำของเอเชีย ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีสถานศึกษาสังกัด สอศ.จำนวน 29 แห่ง รวมทั้งจากสถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย