การเข้าถึงโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมและสะดวกสบายถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ผู้พิการในประเทศไทยยังต้องเผชิญ โดยเฉพาะระบบขนส่งโดยสารสาธารณะ
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย1 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการมากถึง 1.99 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ โดยกว่าร้อยละ 49 หรือประมาณ 985,000 คน เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางสัญจร
อย่างไรก็ดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้ “การสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทาง บริการสาธารณะ และพัฒนาเทคโนโลยีที่คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้” เป็น 1 ใน 5 พันธกิจหลักตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560–2564) ซึ่งหนึ่งในบริการการเดินทางสาธารณะที่มีความสอดคล้องและสามารถตอบสนองพันธกิจดังกล่าวได้คือ บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ทั้งยังมีความปลอดภัย และส่งเสริมให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและพึ่งพาตัวเองได้
เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เมื่อเร็วๆ นี้ แกร็บ ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อคนทุกกลุ่มในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้พิการ พร้อมแนะนำเทคนิคและวิธีการในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการประเภทต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือสามารถให้บริการการเดินทางที่สะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุได้อย่างเข้าถึงมากที่สุด ด้วยบริการแกร็บแอสซิสท์ (GrabAssist) ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการเดินทางอย่างเท่าเทียม
การจัดการอบรมดังกล่าวให้กับพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของบริการ “แกร็บแอสซิสท์” (GrabAssist) ซึ่งได้เปิดตัวมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561) โดยแกร็บแอสซิสท์ เป็นการให้บริการการเดินทางสำหรับผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุ ผ่านรถแท็กซี่ โดยพาร์ทเนอร์คนขับต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษตลอดหนึ่งวันเต็มเพื่อเรียนรู้วิธีการให้ความช่วยเหลือที่ถูกวิธีกับผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องใช้รถเข็น ผู้มีความบกพร่องทางสายตาและทางการได้ยิน รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมีการให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงเขตปริมณฑล ทั้งนี้ บริการดังกล่าวริเริ่มขึ้นจากเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจของแกร็บที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนได้รับบริการการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สำหรับการอบรมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “คิดแวบ” ที่เปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นกับตัวแทนคนพิการ โดยได้รับเกียรติจาก คุณเสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสํานักงานองค์การคนพิการสากลประจําภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย โดยเธอกล่าวว่า “เราได้นำกิจกรรมคิดแวบมาใช้ประเมินความคิดในเบื้องต้นและวิเคราะห์จิตใต้สำนึกเชิงลบของคนขับที่มีต่อคนพิการ ซึ่งพบว่าคนขับส่วนใหญ่จะรู้สึกสงสารหรือบางรายอาจตีตราคนพิการ แต่ในทางกลับกันกลุ่มคนพิการอยากให้เข้าใจว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ป่วยหรือบุคคลอ่อนแอ กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้คนขับรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเขาเข้าใจความคิดและมุมมองของคนพิการมากขึ้นด้วย ในฐานะตัวแทนของสํานักงานองค์การคนพิการสากลประจําภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ และดีใจที่ได้เห็นว่าภาคเอกชนอย่างแกร็บให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการบริการขนส่งเพื่อกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บที่คอยให้บริการผู้พิการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”
นอกจากการปรับทัศนคติแล้ว พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ยังได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทั้ง 7 ประเภท อันได้แก่ ผู้พิการทางกายหรือทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการหรือมีความบกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก) ผู้พิการหรือมีความบกพร่องทางการมองเห็น (ตาบอด) ผู้พิการทางการเรียนรู้ (เรียนรู้ช้า) ผู้พิการทางออทิสติก (มักมีอาการอยู่ไม่นิ่ง) กลุ่มดาวน์ซินโดรม และกลุ่มจิตสังคม (เป็นความพิการที่มองไม่เห็น เช่น อาการซึมเศร้าหรือไบโพล่า ซึ่งมีความเครียดจากหลายปัจจัย) โดยต้องเรียนรู้วิธีการพูดคุยสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกวิธี การใช้ภาษามือเบื้องต้นเพื่อสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน การต้อนรับผู้โดยสารที่พิการทางสายตา ทักษะในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการกับเก้าอี้รถเข็น การพับเก็บรถเข็นและอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ รวมทั้งการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายคนพิการจากรถเข็น เป็นต้น
คุณกฤศชญาญ์วี บัวแดง พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ ในฐานะหญิงสาวหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้กล่าวว่า “ขับแกร็บแท็กซี่มาเกือบ 5 ปีแล้วค่ะ ตั้งแต่ปี 2558 แต่เพิ่งมีโอกาสได้มาอบรมเพื่อให้บริการแกร็บแอสซิสท์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาเราเคยได้เจอผู้โดยสารทั้งที่เป็นคนพิการแบบใช้รถเข็นและคนตาบอด แต่เราไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เวลาจะเข้าไปช่วยก็กลัวทำผิดพลาด พอเห็นแกร็บเปิดอบรมจึงตัดสินใจมาลองเรียนรู้ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงความต้องการของคนพิการมากขึ้น ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น การพูดคุยสอบถามกับผู้โดยสารก่อนว่าต้องการให้ช่วยอะไรตรงไหนบ้าง การสื่อสารด้วยภาษามือกับคนหูหนวก การสื่อสารด้วยภาษากายกับคนตาบอด วิธีการใช้และพับเก็บรถเข็น รวมไปถึงการประคองและอุ้มผู้โดยสารที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากความกังวลเป็นความมั่นใจ ทำให้เรากล้าให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารมากขึ้น”
อีกหนึ่งพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ซึ่งมีคนใกล้ตัวเป็นคนป่วยแบบต้องใช้รถเข็นอย่าง คุณปรัชญา ภูกาบเพชร ก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรของแกร็บแอสซิสท์ โดยได้เผยความในใจว่า “แม้ว่าผมจะมีความใกล้ชิดกับคนพิการเนื่องจากญาติสนิทของผมป่วยเป็นโรคโปลิโอ แต่ต้องยอมรับว่าผมเองยังมีความเข้าใจในกลุ่มคนพิการไม่ดีพอ โดยส่วนตัวผมเคยเจอผู้โดยสารซึ่งเป็นคนพิการแล้วเราให้การช่วยเหลือผิดวิธี ทำให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้เราไม่กล้าจะช่วยเหลืออีกเพราะไม่รู้วิธีหรือขั้นตอนที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมสนใจและลองมาอบรมกับทางแกร็บ เพื่อที่เราจะได้ช่วยผู้โดยสารระหว่างการเดินทางได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ถือเป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ ผมรู้สึกดีทุกครั้งและภูมิใจในตัวเองที่งานของเรามีส่วนช่วยเหลือคนอื่นในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถือเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่สำหรับอาชีพขับแท็กซี่ครับ”
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา บริการแกร็บแอสซิสท์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่เข้าร่วมการอบรมแล้วกว่า 400 คน เพื่อร่วมให้บริการผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้พิการและผู้สูงอายุนับหลายพันคน
โดยแกร็บจะยังคงสานต่อความมุ่งมั่นในการให้บริการการเดินทางที่ทั่วถึงและเท่าเทียมแก่คนไทยทุกคน รวมถึงการสนับสนุนให้คนหูหนวกและผู้ที่มีอุปสรรคทางการได้ยินมีโอกาสในการสร้างรายได้บนแอปพลิเคชันของแกร็บด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ภายใต้โครงการ “Break The Silence – เพราะมันอยู่ที่ใจไม่ใช่เสียง” ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจเพื่อสังคมในระดับภูมิภาค “Grab For Good” (แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า) ที่ต้องการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปข้างหน้า พร้อมส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสังคม โดยอาศัยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนก้าวทันเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล