เล่าเรื่อง..อินเดีย VOL.4 รัฐ 7 สาวน้อย ลุยก่อน รวยก่อน by ธราดล ทองเรือง

1431
โดย : ธราดล ทองเรือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ผมไปอยู่ในรัฐ 7 สาวน้อยกว่าสิบปี

อันดับแรกไปที่รัฐอัสสัม เพราะที่รัฐนี้เราจะเข้าถึงผู้คน ข้าราชการ นักการเมืองง่าย

เนื่องจากเขารักชอบนิยมคนไทยอยู่แล้ว

เป็นความง่ายที่หลายคนมองข้าม

เราไปเมืองอื่นเขาอาจไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าไปที่รัฐอัสสัม ไทยอาหม หรือรัฐ 7 สาวน้อยเขาจะมีความชื่นชมคนไทย

เราจะเข้าถึงและสัมผัสเขาได้ง่าย

อย่างผมเป็นข้าราชการแค่ระดับเบอร์ 2 รองผู้อำนวยการ แต่สามารถเข้าไปคุยกับรัฐมนตรีของรัฐ

เขาให้ความรัก ให้ความเอ็นดู ให้เกียรติ นี่คือความง่ายที่เรามองข้าม

               แต่ก็อย่างที่ผมกล่าวแล้วว่า ประเทศอินเดียในอดีตไม่มีใครอยากไป

แล้วรัฐอัสสัมต้องนั่งเครื่องบินออกจากเมืองหลวงไปอีก 3 ชั่วโมง

ถนนก็เป็นฝุ่น

แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

แต่กำลังซื้อของเขามีแน่นอน ไม่ว่าบ้านจนหรือบ้านรวย ต้องกิน ต้องใช้ ถ้าเรานำของที่ถูกกับความต้องการของเขาเข้าไป ขายได้แน่นอน

ผมกล้าพูดว่าผมเป็นข้าราชการคนแรกๆของประเทศไทยที่เข้าไปทำตรงนั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ไปแล้ว ไปอีก

ไปบ่อย..บ่อย

กลายเป็นมิตรภาพแน่นแฟ้น

ไม่ว่าจะเป็นคนในรัฐอัสสัมเหนือซึ่งเป็นถิ่นไทยอาหมแท้ๆ เมืองดีบูก้า สิบสการ ฯลฯ

รัฐนากาแลนด์นี่คุ้นเคยกันมาก รักกันมาก

ขยายไปรัฐมณีปุระ ไปจนผู้คนแถวนั้นรักผม เขาให้เกียรติและมั่นใจว่าผมมาเปิดตลาดจริงจัง ไม่ใช่ไปแล้ว กลับมาแล้วไม่ไปอีกเลย

ผมพูดเรื่องการเชื่อมเส้นทางประเทศไทยกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือนอร์ธอีสต์ของอินเดียสิบกว่าปีมาแล้ว

ชวนผู้ใหญ่หลายคณะจากเมืองไทยให้เดินทางไปดูลู่ทางการค้าการลงทุน

โปรโมทผ่านสื่อมวลชน

เสนอทำเส้นทางเชื่อมกัน

จนตอนนี้มีการขับรถไปมาหาสู่กันได้

จัดคาร์แรลลี่มาหลายครั้ง

ผมยังได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหารรัฐนากาแลนด์ให้เป็นที่ปรึกษาด้านการค้าและการท่องเที่ยวรัฐนากาแลนด์

และผมก็เป็นคนไทยคนแรกที่หอการค้ากัลกัตตาแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิติมศักดิ์ของหอการค้า (เบงกอลเนชั่นแนลออฟคอมเมิร์ซ) ซึ่งหอการค้านี้ตั้งมาร้อยกว่าปีแล้วไม่เคยมีใครได้รับตำแหน่งนี้ ผมเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับเกียรติ

ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและเกียรติประวัติของชีวิต 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียคือตลาดใหม่ที่น่าสนใจสําหรับผู้ประกอบการส่งออกไทย

เนื่องจากรัฐบาลกลางของประเทศอินเดียได้วางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกําหนดให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็น ‘ประตูสู่อาเซียน’

มีถนนสาย AH1 (Asian Highway 1) เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย-พม่า และ อินเดีย

พื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียหรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘นอร์ธอีสต์’ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่

 มีประชากรอาศัยอยู่ราว 45 ล้านคน

มีอาณาเขตติดกับปากีสถานและพม่า

โดยมีรัฐอัสสัมเป็นจุดศูนย์กลางการค้าการลงทุนและการขนส่งของรัฐ 7 สาวน้อย

รัฐ 7 สาวน้อยเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆก็คล้ายกับภาคอีสานบ้านเรานั่นเอง

ในอดีตอาจดูแห้งแล้ง ห่างไกลความเจริญ

แต่เมื่อนโยบายของรัฐบาลกลางหันมาให้ความสนใจ และทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็โดดเด่นขึ้นทันตา

ว่ากันว่านี่คือตลาดใหม่สินค้าไทย

เพราะคนในรัฐ 7 สาวน้อยหลงใหลสินค้าไทย บริโภคสินค้าไทย และชื่นชมสินค้าแบรนด์เนม Made in Thailand ชนิดที่ว่าใครก็ตามใช้สินค้าติดยี่ห้อ Made in Thailand จะได้รับการยอมรับว่าเท่ มีสไตล์ ทันสมัย และมีหน้ามีตาในสังคม

ปัจจุบันปริมาณสินค้าไทยเริ่มขยายจากพม่าไปสู่รัฐ 7 สาวน้อยมากขึ้น

ผู้คนแถบนี้นอกจากมีรูปร่างหนาที่คล้ายคลึงกับคนไทยแล้ว พวกเขายังมีวัฒนธรรมการกินที่ใกล้เคียงกับเรา

โดยเฉพาะรัฐอัสสัมมีความผูกพันกับคนไทยมาก

เนื่องจากกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกก่อตั้งรัฐนี้ก็คือชุมชนคนไทยซึ่งคนอินเดียเรียกว่า ‘ชุมชนเผ่าไทย หรือ ไทยอาหม’  ซึ่งอพยพไปจากทางตอนเหนือของพม่า

มีทั้งหมด 5 ชุมชน

คนในชุมชนเหล่านี้สามารถพูดภาษาไทยได้ อาหารการกิน ลักษณะการแต่งกายเหมือนคนไทยทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับรัฐมณีปุระซึ่งมีร้านค้าชายแดนมากกว่า 1,000 ร้าน

แต่ละร้านจะมีผู้หญิงขายของเท่านั้น

เรียกว่า “Women Market”

สินค้าหลายอย่างคุ้นตาเราเป็นอย่างดี เช่น ปลาร้า ตั๊กแตนทอด หนอนรถด่วน

บุคลิกลักษณะของคนอินเดียในแถบนี้จะแตกต่างจากคนอินเดียในภาคกลาง คือ ไม่โพกหัว ไม่ไว้เครา

ถ้ามาเมืองไทยอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนไทย

การเดินทางไปยังรัฐ 7 สาวน้อยสามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางอากาศ

โดยทางบกเดินทางจากอำเภอแม่สอดไปยังเมืองเมียวดี หงสาวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เข้าสู่ด่านชายแดนทามู (สหภาพพม่า) ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านมอเร่ห์ (อินเดีย) เข้าสู่รัฐ 7 สาวน้อย

อีกเส้นทางหนึ่งออกจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าสู่เชียงตุง มัณฑะเลย์ ด่านทามูและด่านมอเร่ห์

ส่วนทางอากาศนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองกัลกัตตาแล้วต่อเครื่องเข้าเมืองกูวาฮาตี รัฐอัสสัม หรือ เมืองอินฟาล รัฐมณีปุระ

ปัจจุบันมีสินค้าไทยจำหน่ายในรัฐ 7 สาวน้อยหลายรายการ

เป็นสินค้าที่นักธุรกิจในรัฐ 7 สาวน้อยบินมาซื้อจากเมืองไทยโดยตรง

หรือบางส่วนอาจเป็นสินค้าที่นักธุรกิจอินเดียสั่งจากเมืองไทยเข้าไปยังนิวเดลีแล้วส่งต่อไปขายในรัฐ 7 สาวน้อยอีกที

สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมเช่น เสื้อผ้า กางเกงยีนส์ รองเท้าแตะ เครื่องประดับ สร้อย แหวน โต๊ะเครื่องแป้งแบบน็อกดาวน์ที่นักศึกษาใช้ แบตเตอรี่ เป็นต้น

สินค้าไทยเมื่อไปถึงที่นั่นบวกค่าขนส่ง ค่าภาษี ราคาขายปลีกสูงกว่าในเมืองไทย

ยกตัวอย่างน้ำปลาขวดหนึ่งประมาณ 100 บาท (120 รูปี)

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 20 บาท (25 รูปี)

ซึ่งก็มีคนนิยมซื้อรับประทาน

อย่างที่กล่าวแล้วว่าสินค้าไทยในรัฐ 7 สาวน้อยถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

สินค้าอะไรก็ตาม ถ้าแปะยี่ห้อ Made in Thailand จะขายดีที่สุด

เพราะค่านิยมคนที่นั่นจะมองสินค้าไทยเป็นของเท่ ใช้แล้วมีหน้ามีตา

ปัจจุบันสินค้าจากต่างประเทศที่เข้าไปทำตลาดนอกจากไทยแล้วก็มีจีน แต่ สินค้าจีนคุณภาพสู้สินค้าไทยไม่ได้ ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับสินค้าไทย

รัฐ 7 สาวน้อย หรือ North East India จึงเป็นตลาดการค้าที่อาจจะพูดได้ว่าใหม่ถอดด้าม

การแข่งขันยังน้อย

แต่ในความใหม่ได้ซ่อนกำลังซื้อไว้มากมาย

คนในภูมิภาคนี้อ้าแขนต้อนรับสินค้าจากทุกชาติที่เข้าไปทำตลาด

โดยเฉพาะสินค้าไทยน่าจะได้เปรียบกว่าชาติอื่น เพราะคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพงมากนัก

ประกอบกับรสนิยมคนในภูมิภาคนี้คล้ายคลึงกับคนไทย

ชอบอะไรคล้ายๆกัน

เช่นผลไม้ที่เห็นขายกันมาก กล้วย ส้ม สับปะรด

ผักก็เหมือนกับที่เราชอบกิน อาทิ หน่อไม้ กระหล่ำปลี หอม กระเทียม สะตอ ฟักทอง

คนภูมิภาคนี้ชอบกินหมากเป็นชีวิตจิตใจ จึงมีหมากขายทั่วเมือง ทั้งหมากดิบและหมากสำเร็จรูป ใครสนใจเข้าไปลงทุนปลูกหมากขาย หรือส่งหมากเข้าไปขาย ที่นี่คือตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่น่าเข้าไปลงทุนอีก 3 กลุ่มหลักคือ

1.สินค้า SMEs ได้แก่ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส อาหารสําเร็จรูป เครื่องสําอางและเครื่องแต่งกาย

2.ธุรกิจด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในภูมิภาค เนื่องจากผู้คนในแถบนี้ยังขาดองค์ความรู้ในการเพาะปลูกและการทําปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเลี้ยงหมู ไก่ รวมถึงการเลี้ยงปลาในกระชัง

3.ธุรกิจโรงพยาบาล เนื่องจากระบบสาธารณสุขในอินเดียยังคงมีปัญหาทั้งในด้านสถานที่ การบริการ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีคนอินเดียจํานวนไม่น้อยที่ให้ความไว้วางใจโรงพยาบาลไทยและเดินทางมาใช้บริการสถานพยาบาลในประเทศไทย จึงเป็นช่องทางที่นักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนเพื่อเจาะตลาดโรงพยาบาลหนึ่งในธุรกิจบริการที่กําลังเป็นที่ต้องการของชาวอินเดีย

ผมเคยร่วมกิจกรรมโครงการแรลลี่ชื่อว่า Flag Down “ASEAN Car Rally

เป็นกิจกรรมที่โชว์การเชื่อมโยงทางถนนระหว่างประเทศอาเซียนเข้าสู่อินเดีย

โดยขบวนรถดังกล่าวมาจาก 11 ประเทศ

มีการเดินทางกว่า 8,000 กิโลเมตร

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเริ่มต้นที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ผ่านประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผ่านพม่าและสิ้นสุดที่เมืองกูวาฮาตีรัฐอัสสัมของอินเดีย

แรลลี่ดังกล่าวมีบุคคลสำคัญของรัฐบาลแต่ละประเทศเข้าร่วมพิธี รวมถึงประเทศไทย

กิจกรรมครั้งนั้นทำให้รัฐอัสสัมเบ่งบานขึ้นทันควัน ในฐานะประตูการค้าสำคัญระหว่างอาเซียนกับอินเดีย

ASEAN Car Rally สะท้อนว่าการค้า การลงทุน การขนส่งสินค้าและการขนส่งคนระหว่างอาเซียน-อินเดียยังมีโอกาสและศักยภาพสูงมาก

ซึ่งการค้ากับภาคอีสานของอินเดียควรจะต้องใช้วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนำการค้า

นักธุรกิจไทยที่สนใจทำการค้ากับอินเดียอาจถือโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวในรัฐอัสสัมก่อน แล้วจะพบว่ามีโอกาสทองทางธุรกิจรออยู่อย่างมาก

ปัจจุบันคงไม่มีใครมองข้ามอินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่เทียบเท่าจีน

ในขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับอินเดียยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาด

โอกาสที่จะเพิ่มหรือขยับขึ้นมีสูงมาก

คนไทยรู้จักอินเดียมานาน แต่รู้จักแค่เมืองหลักๆ เช่น นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา เจนไน

ถ้าขยับออกจากเมืองหลักหรือขยับออกจากจังหวัดไปสู่อำเภอ ตรงนั้นสินค้าไทยยังไปไม่ค่อยถึง จึงควรไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้เพื่อโปรโมตสินค้าไทยในเมืองย่อยๆ

เช่น รัฐ 7 สาวน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะนอกจากรัฐดังกล่าวจะมีประชากรรวมกันถึง 45 ล้านคนแล้ว ยังมีจุดเชื่อมต่อกับประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากร 160 กว่าล้านคน รวมแล้ว 200 กว่าล้านคน

ถือว่าเป็นตลาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตอีก..มากมาย

ธราดล ทองเรือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย