นับเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปที่ดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คร้ังใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับที่ดิน 22 หน่วยจาก 11 กระทรวงมาทำข้อตกลงความร่วมมือกัน หรือที่เรียกว่า MOU เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สทคช.) เป็นหน่วยงานกลางที่เชื่อมประสานอยู่ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
สคทช.มี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เป็นผู้อำนวยการ สุริยน พัชรครุกานนท์ และ ประเสริฐ ศิรินภาพร เป็นรองผู้อำนวยการ
งานที่ MOU ดูใหญ่อยู่แล้ว ยิ่งกระหึ่มขึ้นไปอีกเมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานในพิธีลงนาม
ทำให้ข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มิใช่งานธรรมดา มิใช่แค่งานสร้างภาพแล้วเลิกลากันไป
22 หน่วยงานรัฐที่ร่วมทำ MOU เท่ากับได้รับปากว่า จะนำนโยบายจากรัฐบาลไปเร่งสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแบบแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรือชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการขาดที่ดินทำกินจะค่อยๆปรากฎให้เห็นตามลำดับ
ประชาชนผู้ยากไร้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันการเปลี่ยนมือ และการเข้าครอบครองของนายทุน
เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังตกทอดไปถึงลูกหลานได้
สิ่งเหล่านี้จะมิใช่เพียงแค่ความฝันลมๆแล้งๆอีกต่อไป
ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ปัญหาที่ดินเพิ่มทวีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ประชาชนได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เกิดจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งผูกโยงไปถึงประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินนั้นมีจำนวนมาก กระจายกันอยู่ถึง 11 กระทรวง
แต่ละหน่วยงานก่อเกิดด้วยกฎหมายเฉพาะของตัวเอง การบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นๆ ขาดการทำงานร่วมกัน ทำให้การควบคุมดูแลและการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แนวเขตที่ดินในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่ทับซ้อนกัน นำไปสู่การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตรา 1 : 4000 แบบดิจิตอล หรือที่เรียกว่า วันแม็ป ( One Map)โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย แนวเขตที่ดินไม่ให้ทับซ้อน หรือมีช่องว่างไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐ หรือที่ดินของเอกชน
สคทช. จึงประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อประชาชน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ทุกส่วนราชการจะนำไปใช้และถือเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน
นี่คือ การปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่เพื่อตอบโจทย์ปัญหายืดเยื้อเรื้อรังเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร ด้วยพลังความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ไม่ทำงานแบบแยกส่วน หน่วยงานใครก็หน่วยงานนั้นเหมือนที่แล้วๆมา
คทช. คือบอร์ดใหญ่ระดับชาติที่มีกรรมการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 8 กระทรวง ได้แก่ กลาโหม คลัง เกษตร ทรัพยากรฯ มหาดไทย พัฒนาสังคมฯ คมนาคม และดิจิทัลฯ เข้าร่วมประชุม โดยวันนี้ “บิ๊กป้อม”นั่งหัวโต๊ะ
คทช.จึงเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในภาพรวม ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่ต่างสังกัด ต่างผู้บริหาร ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
สังคมที่รับรู้ข่าวสารที่เปิดกว้างและรวดเร็วคงจะได้ติดตามกันต่อไปว่า MOU ที่ลงนามกันดังกล่าวจะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับระบบราชการ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเปิดศักราชใหม่ให้แก่การปฏิรูปที่ดินไทยนับตั้งแต่นี้ไป