พญ.เมธินี ไหมแพง ผู้ช่วยประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นสถานบริการทางการแพทย์ในระดับตติยภูมิที่มีมาตรฐานในระดับสากล มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ สามารถรองรับผู้รับบริการที่มีโรคซับซ้อน การรักษาโรคซับซ้อนมีความยากต้องอาศัยการดูแลรักษาที่ซับซ้อน เช่น แพทย์หลายแผนกและทีมสหสาขา เครื่องมือที่พร้อม และวิธีการรักษาที่หลากหลาย รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยความเปราะบางของร่างกายตามวัยจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซับซ้อน และเพิ่มอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระยะเวลาการพักรักษาตัวและการฟื้นฟูนาน มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และอาศัยการดูแลแบบองค์รวมจากทีมแพทย์ อายุรแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลวิชาชีพ ทีมนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เภสัชกร นักโภชนาการ เป็นต้น
ทั้งนี้โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงเล็งเห็นความสำคัญของผู้ป่วยที่ต้องได้ความความดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยใช้งบลงทุนมากกว่า 300 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับโรงพยาบาลกายภาพบำบัดได้อย่างสะดวก และเป็นข้อดีที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง ในมาตรฐานการรักษาพยาบาเดียวกันกับโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยมีทั้งหมด 50 เตียง
พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า นิยามของคำว่า Transitional care ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก หมายถึง การดูแลในระยะเปลี่ยนผ่าน คือการดูแลผู้ป่วยหลังจากผ่านภาวะวิกฤติ เป็นขั้นตอนการปรับเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการคงที่ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่ และมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์โดยทีมสหวิชาชีพก่อนการไปดูแลที่บ้านต่อ ยังคงต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อฟื้นฟูก่อนการไปดูแลที่บ้านต่อไป นี่จึงเป็นที่มาของของการจัดตั้ง โรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ (Chiva Transitional Care Hospital) เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดกระดูกสะโพก และผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อย่างอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือ อาการบาดเจ็บทางศีรษะ (Traumatic brain injury) หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีอาการบาดเจ็บหลายระบบของร่างกาย หรือกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจ แบบองค์รวม เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคมได้ดีขึ้น พร้อมด้วยห้องพักผู้ป่วย ที่เป็นสัดส่วน สะอาด ทันสมัย ออกแบบฟังค์ชั่นการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ป่วยในระยะพักฟื้นโดยเฉพาะ
โดยการบริการที่สำคัญ คือ การดูแลแบบองค์รวม โดยอายุรแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีมนักกายภาพบำบัด (รวมถึง นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด) เภสัชกร นักโภชนาการ และพยาบาลวิชาชีพ พร้อมวางแผนการดูแลอย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมร่วมกันเพื่อติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด มาตรฐานการดูแลอย่างมีคุณภาพ ให้การใส่ใจดูแลอย่างเข้มข้น โดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เฉพาะทาง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและฝึกทักษะในด้านความคิดหรือแม้กระทั่งร่างกาย เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้ พื้นที่ส่วนตัว ห้องพักกว้างขวาง สะอาด ปลอดภัย อุปกรณ์ครบครัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ด้วยการออกแบบห้องพักส่วนตัวที่เป็นสัดส่วน โปร่ง สะดวกสบาย กว้างขวาง บรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน และมีเวลาส่วนตัวกับครอบครัว คำนึงถึงความปลอดภัย มีสวิตซ์อัจฉริยะสำหรับขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน พร้อมสวนหย่อมให้บรรยากาศผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติ ออกแบบสถานที่โดยทีมงานสถาปนิกมืออาชีพ เพื่อรองรับการพักอาศัยของผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะพักฟื้น และการดูแลเอาใจใส่เสมือนญาติมิตร อบอุ่น เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยเสมือนคนในครอบครัว
พ.ต.นพ.อนุวัฒน์ วัลลภาพันธุ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ ภายหลังการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางแล้ว ผู้ที่จะให้การฟื้นฟูผู้ป่วยในระยะต่อมา ให้กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว คือ ทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด และพยาบาล เป็นต้น คำว่าผู้ป่วยระยะฟื้นฟู (Sub-acute phase) ก็คือ ผู้ป่วยที่มีอาการผ่านพ้นภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้วและมีอาการคงที่ แต่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่ มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่มีการฟื้นตัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ทำกิจกรรมและทำงานได้ ตามความสามารถสูงสุดของผู้ป่วยโดยผู้ที่จะเข้ารับการให้บริการในระยะฟื้นฟู ได้แก่ 1. ผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาล หรือต้องฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดกระดูกสะโพก หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีการบาดเจ็บหลายระบบของร่างกาย 2. ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ 3. ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องการการฟื้นฟู เช่นมีภาวะกล้ามเนื้อน้อย มีการช่วยเหลือตัวเองลดลง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลด้วยมาตรฐานการบริการในระดับสากล พร้อมด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดที่ทันสมัย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพได้ดียิ่งขึ้นอย่างเต็มความสามารถ