เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ..เรื่องสำคัญที่คนทำประกันชีวิตต้องรู้

808

บทความ by ECONMAN

            เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 หมายถึง เงินที่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ แต่มิได้มีการเรียกร้องจากบริษัทประกันชีวิตจนล่วงพ้นอายุความ ซึ่งอายุความดังกล่าวคือ 10 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับเงิน โดยเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิต ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันชีวิต โดยผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ หรือทายาท สามารถขอรับเงินดังกล่าวคืนจากกองทุนได้ภายในเวลาอีก 10 ปี

            สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คือ

            1. บริษัทประกันไม่สามารถติดต่อผู้เอาประกันชีวิตบางรายได้ เนื่องจากสาเหตุเช่น ย้ายที่อยู่แล้วมิได้แจ้งให้บริษัทประกันทราบ

            2. ผู้เอาประกันชีวิตบางราย เสียชีวิตโดยมิเคยแจ้งให้ทายาท หรือผู้รับประโยชน์ทราบว่า ตนได้ทำประกันชีวิตไว้ ทำให้ผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกัน มิได้เรียกร้องเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์

            3. ผู้เอาประกันชีวิตบางรายไม่ส่งเบี้ยประกันต่อ ทำให้กรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง แต่ไม่ทราบว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเหลืออยู่

            4. ผู้เอาประกันได้รับเช็คจากบริษัทแล้ว แต่มิได้นำเช็คไปขึ้นเงินจนลืม

            ปัจจุบันมีเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ที่บริษัทประกันชีวิต จำนวน 22 บริษัท นำส่งเข้าไปยังกองทุนประกันชีวิต จนถึงปัจจุบันนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) เป็นเงินจำนวน 1,397,716,563 บาท มีจำนวนผู้เอาประกันที่มีสิทธิรับเงินทั้งสิ้น 1,003,750 ราย

            หลายคนอาจสงสัยว่า “กองทุนประกันชีวิต” คือใคร ทำไมบริษัทประกันชีวิตจึงต้องนำเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความส่งไปไว้ที่นั่น เพื่อรอให้ผู้มีสิทธิไปรับเงินคืนได้ภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่เงินจำนวนนั้นถูกส่งจากบริษัทประกันชีวิตเข้าไป

            กองทุนประกันชีวิต เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ กองทุนประกันชีวิตจึงได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายของแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการกองทุนประกันชีวิต โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้รับรู้ รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิต และสิทธิของตนเอง ปัจจุบันกองทุนประกันชีวิตจัดตั้งขึ้นเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว

            ด้วยบทบาทและหน้าที่ดังกล่าว เมื่อกองทุนประกันชีวิตได้รับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความจากบริษัทประกันชีวิตแล้ว ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงการเข้าถึงข้อมูลเงินกรมธรรม์ดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ สื่อสารออนไลน์ ผ่าน Website, YouTube, Facebook, Line Official Account สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และ สื่อสิ่งพิมพ์ ดำเนินการพัฒนาโปรแกรมเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนประกันชีวิต www.lifeif.or.th รวมถึงบูรณาการกับกรมการปกครอง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบที่อยู่ปัจจุบันของผู้เอาประกันชีวิต ตามข้อมูลผู้มีสิทธิในเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความของกองทุนฯ เพื่อใช้แจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันชีวิตรับทราบอีกด้วย

            ปัจจุบันกองทุนประกันชีวิต ได้จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินไปแล้ว จำนวน 3,268 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 23,855,973 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) คิดเป็นร้อยละ 0.31 ของจำนวนผู้ที่มีสิทธิทั้งหมด และร้อยละ 1.65 ของจำนวนเงินทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด สาเหตุเนื่องมาจากประชาชนซึ่งเป็นผู้เอาประกัน ผู้รับประโยชน์จำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตน ทำให้ปัจจุบันมีการนำส่งเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความดังกล่าวเข้ามายังกองทุนฯ เป็นจำนวนมาก แต่มีผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพียงส่วนน้อยที่ทราบสิทธิของตน และมาขอรับเงินคืนจากกองทุนฯ

            กองทุนประกันชีวิต จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงการเข้าถึงข้อมูล เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เพื่อตรวจสอบสิทธิของตนเอง ผ่านเวปไซต์กองทุนประกันชีวิต ทาง www.lifeif.or.th หากประชาชนตรวจสอบสิทธิของตนและปรากฎว่าพบข้อมูลว่าตนมีสิทธิรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคืนจากกองทุนประกันชีวิต ก็สามารถที่จะยื่นคำขอรับเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสามารถพิมพ์แบบคำขอ เพื่อกรอกรายละเอียดพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน และส่งไปยังที่อยู่ของกองทุนประกันชีวิต โดยกองทุนฯจะทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารหลักฐาน และอนุมัติจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันโดยเร็ว โดยการโอนเงินผ่านช่องทาง ธนาคาร หรือ เช็ค ต่อไป

ข้อมูล : กองทุนประกันชีวิต