เกษตรกรร้อยละ 25 จ่อเลิกอาชีพหลังไร้พาราควอต

870

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี จัดเสวนา “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” พร้อมเปิดผลสำรวจเกษตรกรทั่วไทย ตะลึงร้อยละ 25 คาดเลิกอาชีพเกษตรหากไร้สารทดแทนพาราควอต

ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รอบปีที่ผ่านมา ประเด็นสารกำจัดวัชพืชพาราควอต ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นถกเถียงถึงความอันตรายของสารดังกล่าว ว่าเป็นจริงหรือไม่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายด้านและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสาธารณชนในหลายด้าน ได้แก่ การตกค้างของพาราควอต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงแล้วว่าไม่พบการตกค้างในพืช ผัก ผลไม้ ประเด็นโรคเนื้อเน่า ได้ตรวจสอบไม่พบพาราควอต แต่พบแบคทีเรียเป็นเหตุของโรคดังกล่าว ประเด็นการพบพาราควอตในขี้เทาทารก ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในกระบวนการวิจัย เช่นเดียวกับ การพบพาราควอตในเห็ด ไม่มีบทสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้จัดทำแบบสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ผลกระทบหลังห้ามการใช้พาราควอต พบว่า ร้อยละ 94.7 ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับการแบนเพราะไม่มีสารทดแทนเทียบเท่าทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรทั้งหมด ร้อยละ 100 ต้องการใช้พาราควอต ประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 25 จะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกร หากไม่มีสารเคมีที่ใช้ทดแทนพาราควอต เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่า 3 เท่า ร้อยละ 54 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 46 กระทบต่อต้นทุน 1-2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนเกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชประมาณ 5 ล้านราย อาจเลิกทำเกษตรกรรมสูงถึง 1.25 ล้านราย ในปีหน้า

เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญในมาตรา 73 ว่าด้วย “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” ดร. ชัยภัฎ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการได้ตามที่ระบุ ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ

ดร. จรรยา มณีโชติ กล่าวสรุปว่า การแบนพาราควอต ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของเกษตรกร อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กันอยู่ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ในปีหน้าเตรียมจัดตั้ง มูลนิธิเกษตรเข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกว่า 30 ล้านราย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต