เกษตรกรยื่นหนังสือ ‘รมว.เกษตรและสหกรณ์’ ทบทวนการยกเลิกพาราควอต

941

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือทบทวนการยกเลิกการแบนพาราควอตต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ผลกระทบหลังจากการแบนพาราควอตส่งผลให้เกษตรกรต้นทุนสูงขึ้น หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น บางส่วนเลิกทำเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรประสบปัญหา อาจเกิดการเลิกจ้างงาน สินค้าผิดกฎหมายลักลอบผสมสารเคมีอ้างเป็นสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจสอบ ควบคุมสารชีวภัณฑ์ รวมทั้งเกษตรกรได้นำแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำแล้ว ได้แก่ สารทางเลือก ไกลโฟเซต และกลูโฟซิเนต พบว่าวัชพืชไม่ตาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชปลูก ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งนักวิชาการแสดงความเห็นต่อสารทางเลือกต่าง ๆ พบว่าไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา

นอกจากนี้ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท) ได้สำรวจและวิเคราะห์สารตกค้างในกลุ่มสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศไทย อาทิ น้ำตาล น้ำอ้อย แป้งมัน สาคู ข้าวโพดต้ม ข้าวโพดกระป๋อง ข้าวโพดอาหารสัตว์ และอื่น ๆ รวม 35 รายการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ไม่พบสารพาราควอตตกค้างแม้แต่รายการเดียว

“เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ จึงขอให้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำเนินการจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำไปสู่การทบทวนอย่างเป็นธรรมใหม่อีกครั้ง 2. ขอให้นำมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และ 3. ขอให้จัดทำหนังสือถึง คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย” นายสุกรรณ์ กล่าวและว่าหลังจากการแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะพาราควอต หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน แพทย์ นักวิชาการเฉพาะทาง และตัวแทนเกษตรกร ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวหลากหลายมุมมอง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวถึงประเด็นผลการศึกษาตรวจพาราควอตในเลือดหญิงมีครรภ์ และการตรวจพบในอุจจาระเด็กแรกคลอด (ขี้เทา) มีหลายจุดที่เห็นว่าไม่มีรายงานแจ้งความผิดปกติด้านสุขภาพ การอภิปรายสรุปของคณะศึกษาง่ายและรวบรัดเกินไป โดยในฐานะนักวิชาการควรพิจารณาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน เช่น ข้อมูลการศึกษาในสภาพที่ปรับระเบียบวิธีศึกษาโดยนักวิชาการเกษตร นักเวชศาสตร์ป้องกัน นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสรุปข้อมูลก็อาจเปลี่ยนไป ขอย้ำว่าโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากพาราควอตนั้นป้องกันได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่ใช้ยาสารเคมีพิษบำบัดรักษาผู้ป่วย

นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการการเกษตร กล่าวว่า กระบวนการแบนสารเคมีเกษตร จนออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ไม่ชอบและไม่ครอบคลุมตามข้อกฎหมายเท่าที่ควร เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมากรมวิชาการการเกษตรยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเกษตร แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับเร่งรีบลงมติ ขาดความรอบคอบ และไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล

น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า กระบวนการที่นำมาสู่การประกาศวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือ วอ.4 ที่อ้างว่าพบสารตกค้างพาราควอตและไกลโฟเซตในผลผลิตทางการเกษตร เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นความจริง ด้านการเผยแพร่ผลงานของนักวิชาการที่กล่าวอ้างถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ตรวจสอบพบว่าไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่เผยแพร่สู่สาธารณะและไม่ได้การรับรอง รวมทั้งการกล่าวอ้างการแพร่สารเคมีเกษตรจากครรภ์แม่สู่ลูกนั้น ไม่ได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้มีการศึกษาวิจัยแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และราคาเทียบเท่าพาราควอตให้เกษตรกรใช้เป็นทางเลือก ตลอดจน ปัจจุบันยังไม่มีชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร สำหรับให้เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืช มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอตและไกลโฟเซต ดังนั้น การพิจารณาทบทวนยกเลิกการใช้พาราควอตในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรศึกษาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้านอย่างเป็นธรรม รวมทั้งไม่ควรอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอต ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีค่าตกค้างของพาราควอตไม่เกินค่ามาตรฐานโคเด็กซ์ (codex) ก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ควรส่งเสริมมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร และฝึกอบรมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ตามแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย เป็นทางออกที่ดีที่สุด