เมื่อเร็วๆนี้เวทีจัดการแข่งขันประกวดนวัตกรรม IDE Competition 2021 จัดโดยศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รูปแบบการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผลรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน IDE Competition Experiment Track ได้แก่ ทีม YAMA Super Feed นวัตกรรมอาหารเสริมที่เป็นสมุนไพร 100% รักษาป้องกันและบำรุงเพื่อลดปัญหาเต้านมอักเสบของโคนม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจากนวัตกรรมชุมชนที่เกิดจากการทำงานร่วมกันกับ IDE Node รุ่นที่ 1 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
จารุพงศ์ ประสพสุข ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ทีม YAMA Super feed เปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทำให้เห็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรขายนมไม่ได้ ส่งผลให้พวกเกษตรกรไทยขาดโอกาสในการสร้างรายได้และต้องเป็นภาระในการดูแลโคนมที่ป่วย จึงได้ไปหาทีมงานด้านโภชนาการอาหารสัตว์ และสัตวแพทย์เพื่อประชุมหาวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงเกิดเป็นอาหารเสริม YAMA Super Feed ที่เป็นสมุนไพร 100% รักษาป้องกันและบำรุงเพื่อลดปัญหาเต้านมอักเสบของโคนม ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรแก้ไขปัญหาเต้านมอักเสบของโคนมด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะต้องมีระยะหยุดยาก่อนที่จะส่งนมและมีความเสี่ยงที่นมจะมียาปฏิชีวนะตกค้าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ YAMA Super Feed มีส่วนผสมของสมุนไพร คุณสมบัติช่วยในการรักษาป้องกันและบำรุงเพื่อลดปัญหาเต้านมอักเสบในโคนม โดยเมื่อใช้ยานี้กับโคนมที่ป่วยแล้วทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะตกค้างในนม เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วอาการเต้านมอักเสบของโคนมจะบรรเทาลงภายใน 7 วัน ส่งผลให้เกษตรกรนั้นสามารถขายนมได้ ไม่เพียงแต่ขายอาหารเสริมแต่ทีมยังขายความเชื่อใจ ความสบายใจ ซื้อสินค้าทุกชิ้นสามารถปรึกษานักโภชนาการอาหารสัตว์และสัตวแพทย์ได้ 24 ชั่วโมง YAMA Super Feed เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสินค้านวัตกรรมโดยใช้วัตถุดิบทางชีวภาพที่มีในท้องถิ่นมาสร้างให้เกิดมูลค่า เกิดการหมุนเวียนเกื้อกูลในสังคมเกษตรกรรม โดยยึดถือหลักการที่ว่ากำไรของเรา คือ ความสำเร็จของเกษตรกร
“ขอบคุณสำหรับรางวัลชนะเลิศ IDE Competition Experiment Track เนื่องด้วยทีมของเรานั้นมีทีมงานที่ดีและได้รับการสนับสนุนการทำงานร่วมกันและการมีโค้ชที่เข้มข้นจาก IDE Node รุ่นที่ 1 โดยมี ผศ.ดร.ชญาดา สุระวนิชกุล อาจารย์ประจำคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเป็น Node Champions คอยพลักดันให้ทีมตั้งใจพัฒนาทำงานนวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรท้องถิ่นจริง และยังคอยกระตุ้นให้ทีมเกิดการคิดวิเคราะห์แบบผู้ประกอบการ IDE ที่ต้องรู้จักการ “Explore Forever” คือการสำรวจแบบไม่มีที่สิ้นสุดที่จะค้นหาปัญหาและวิธีการแก้ไข โดยทุกคนในทีมมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมให้สามารถที่จะสร้างรายได้มากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโคนม อีกทั้งคุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมานั้น ยังเกิดประโยชน์ทั้งต่อลูกค้าและเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนเกษตรกรก็ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด การร่วมมือกันทำงานอย่างมีเหตุมีผล เพื่อประโยชน์ที่เกื้อกูลกันทั้งระบบ ที่สำคัญการเรียนรู้จากทาง IDE Center มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังสอนให้ทีมงานมีกระบวนการทางความคิดที่เปลี่ยนจากเดิม คือ ต้องมองปัญหาในหลายๆ ด้านมากขึ้นและหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดที่สุด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจนั้นสามารถที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด หลังจากนี้จะไปต่อยอดพิสูจน์สมมติฐานของผลิตภัณฑ์ของทีม โดยการลงมือทดลองทำ ทดลองขาย และขยายผล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ออกมาดียิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในอนาคตอาจจะมีการขยายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นออกไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์
IDE เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นจุดเริ่มต้นของคนมีฝัน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และอยากจะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ และอยากจะขอเชิญชวนผู้ที่สนใจและอยากที่จะทำความฝันของตนเองให้เกิดขึ้นจริงมาร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้ประเทศไทย” จารุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย