ม.มหิดล มุ่งวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางยาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) หวังพิชิตมะเร็ง COVID-19 และโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกของโลก
คนและสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็น “One Health” ซึ่งเมื่อเกิดโรคอาจถ่ายทอดจากคนสู่สัตว์ และสัตว์สู่คนได้ สัตวแพทย์ในทุกวันนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรักษาสัตว์ แต่เพื่อสุขภาวะของทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย
ปัญหาโรคติดเชื้อนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เป็นอีกหนึ่งในโรคติดเชื้อที่กำลังทำให้โลกเกิดวิกฤติจากปัญหาการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความพยายามผลิตวัคซีนจากภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของมนุษย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 กันอย่างแพร่หลาย รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความพยายามที่จะวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางยาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) เพื่อดูฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็ง แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่ รวมทั้ง COVID-19 ซึ่งหากบรรลุผลได้ตามเป้าหมายจะกลายเป็นรายแรกของโลก
จากสมมุติฐานที่ว่า ทำไม “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) ถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต และแม้ในน้ำเน่าเสีย ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล จึงเกิดความคิดที่จะริเริ่มศึกษาถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว จึงได้ขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดจาก “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) ที่มีลักษณะสมบูรณ์มาศึกษาทางโปรตีน (Proteomics) ในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เลือดตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมถึงอาจต่อยอดเพื่อศึกษาการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึง COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ได้อีกด้วย
“ในขณะที่โลกมีการคิดค้นวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างแพร่หลาย แต่การรักษายังคงเป็นไปตามอาการ ไม่มียาใดที่ใช้รักษาได้โดยตรง ในบางกรณีก็อาจรักษาโดยใช้ยาต้าน HIV ซึ่งก็ไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย หากสามารถพัฒนายาใหม่ขึ้นมาได้ ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่จะเพิ่มความหวังให้กับมวลมนุษยชาติได้” รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) กำลังใกล้สูญพันธุ์จากการถูกล่า จนได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และล่าสุดกำลังมีการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่จะทำให้ “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากทำได้จะส่งผลดีต่อการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) ต่อไป เนื่องจากจะมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่าง “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) ที่อยู่ในธรรมชาติ และ “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) ที่อยู่ในระบบฟาร์ม ซึ่งจะมีการดูแลที่ต่างวัตถุประสงค์กัน เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าวจนถึงปลายน้ำ หากอนาคตต้องใช้ประโยชน์จาก “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) การเพาะพันธุ์ในระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามาก
ก้าวต่อไปก่อนที่จะทำให้โลกได้เข้าใกล้ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นจริงที่จะสามารถพัฒนายาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” (Varanus salvator) เพื่อพิชิตนานาโรคร้ายที่กำลังเป็นปัญหาของมนุษย์ คือ การพิสูจน์ให้มั่นใจได้ว่านอกจากสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง และแบคทีเรียบางชนิดแล้ว จะไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์ ก่อนจะดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จในเบื้องต้นภายในปลายปี 2564 นี้ ก่อนเดินหน้าศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านไวรัสที่ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยเริ่มจากไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และ COVID-19 ต่อไป
“ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือวิชาชีพใดๆ ก็สามารถทำประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ของตน มุ่งผลเพื่อผู้อื่น สิ่งที่ได้ คือ ความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก และมีความถนัด ซึ่งจะทำให้ทุกวันของเราได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล กล่าวทิ้งท้าย