ตามที่มีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าประชาชนที่ได้รับเงินจากโครงการ “คนละครึ่ง” จำนวน 3,000 บาท ในปี 2563 และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับส่วนลดค่าที่พักโรงแรม และคูปองค่าอาหาร ให้ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ นั้น นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี(กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับประชาชนที่ได้รับเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยให้กรมสรรพากรยกร่างกฎหมายเสนอต่อไป แต่เนื่องจากมีการขยายมาตรการหลายครั้ง จึงต้องประมวลมาตรการทั้งหมดเพื่อร่างกฎหมายเสนอกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีในคราวเดียว โดยจะมีการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับในปีภาษี 2563 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2564 และเงินได้ที่ได้รับในปีภาษี 2564 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2565 ด้วย”
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ได้เปิดให้ประชาชนได้เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิตามโครงการคนละครึ่งและโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 แล้วจำนวน 12,050,115 คน โดยเป็นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ได้รับสิทธิเดิมจำนวน 9,536,644 คน ใช้จ่ายสะสม 52,358.3 ล้านบาท และผู้ได้รับสิทธิใหม่จำนวน 2,513,471 คน ใช้จ่ายสะสม 1,073.6 ล้านบาท รวมยอดการใช้จ่ายสะสม 53,431.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353.4 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 26,078.5 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ และมีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า โดยผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง