สมอ. จี้ผู้ผลิตและนำเข้า “ของเล่น” กว่า 1,400 ราย ให้ยื่นขอ มอก. ตามมาตรฐานใหม่ที่เพิ่มความเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO ก่อนมีผลบังคับใช้ 22 กันยายน ปีนี้ ฝ่าฝืนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สมอ. ควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 136 รายการ ต้องได้มาตรฐาน ซึ่ง “ของเล่น” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ สมอ. ควบคุม โดย สมอ. ได้ปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล และเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ล่าสุดได้ปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก.685-2562 โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ISO 8124-1 : 2018 ซึ่งมีการแก้ไขสาระสำคัญของมาตรฐานที่แตกต่างไปจากฉบับเดิม ได้แก่ การควบคุมปริมาณโลหะหนักที่เข้มข้นมากขึ้นสำหรับของเล่น “ฟิงเกอร์เพนต์” ที่เด็กใช้นิ้วมือสัมผัสสีเพื่อระบาย เช่น พลวง สารหนู แบเรียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท และเซเลเนียม รวมทั้งเพิ่มการตรวจสอบสารกลุ่มทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในกระบวนการผลิตพลาสติก ยาง และสารเคลือบต้องไม่เกิน 0.1 เปอร์เซนต์โดยมวล เพื่อให้ของเล่นเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อเด็ก ทั้งในด้านลักษณะภายนอกและปริมาณโลหะหนักหรือสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังเพิ่มรายการวัสดุที่ห้ามใช้ผลิตของเล่น จากมาตรฐานฉบับเดิมมี 6 รายการ เพิ่มเป็น 9 รายการ ได้แก่
1. ห้ามใช้วัสดุที่มีการขยายตัวเพิ่มขนาดผิดปกติเมื่อสัมผัสกับน้ำ
2. ห้ามใช้เซลลูลอยด์หรือวัสดุอื่นที่มีสมบัติการติดไฟเหมือนเซลลูลอยด์ ยกเว้นที่เป็นส่วนผสมในสี กาว วาร์นิช ลูกเทเบิลเทนนิส หรือลูกบอล ที่ใช้สำหรับเล่นกีฬา
3. ห้ามใช้วัสดุที่ผิวหน้าวาบไฟได้เมื่อใกล้เปลวไฟ
4. ห้ามใช้ของแข็งไวไฟ
5. ห้ามใช้ก๊าซหรือเจลที่ติดไฟได้ และของเหลวไวไฟ
6. ห้ามใช้สารที่เกิดความร้อนหรือติดไฟได้เองที่อุณหภูมิห้อง
7. ห้ามใช้สารที่เกิดก๊าซที่ติดไฟได้ เมื่อสัมผัสน้ำหรือความชื้นในอากาศ เช่น แคลเซียมคาร์ไบด์
8. ห้ามใช้แก้ว เฉพาะกรณีของเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และ
9. ห้ามใช้น้ำยาหรือสารเคมีใช้อาบหรืออัดเพื่อรักษาเนื้อไม้ ที่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้ สมอ. ได้แจ้งผู้ประกอบการทั้งทำและนำเข้าของเล่นที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 1,493 ราย ให้มายื่นขออนุญาตตาม มอก. ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กันยายน 2565 นี้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนทำหรือนำเข้าสินค้าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยที่ผ่านมา สมอ. ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายของเล่นตามท้องตลาดและช่องทางออนไลน์อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 สมอ. ได้ยึดอายัดของเล่นไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท” เลขาธิการ สมอ. กล่าว