วว.จับมือ Dow แก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วยวิทยาศาสตร์

686

วว.จับมือ Dow แก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หวังสร้างชุมชนต้นแบบ “Waste Sorting Hub”  ลดปัญหาขยะชุมชนและพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

            สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามความร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ภายใต้โครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน”  ส่งเสริมนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะชุมชนอย่างครบวงจร หวังสร้างต้นแบบศูนย์คัดแยกขยะใช้แล้วและแปรรูป “Waste Sorting Hub” โดยชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก เล็งขยายผลไปยังชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของประเทศ  ด้วยการบริหารจัดการขยะพลาสติกโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

            ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง วว. และกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ภายใต้โครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน”  มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  ผ่านการดำเนินงาน 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) ยกระดับศูนย์คัดแยกพลาสติกใช้แล้วเพื่อพัฒนาร้านรับซื้อของเก่าด้วยชุมชน โดยเน้นการจัดการพลาสติกใช้แล้ว รวมถึง เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเศษอาหารและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร โดยจะนำร่องที่จังหวัดระยอง 2) สร้างมาตรฐานพลาสติกรีไซเคิลโดยวิธีการและเครื่องมือ เพื่อตรวจสอบและตรวจวัดคุณภาพพลาสติก เช่น การตรวจสอบความหนาแน่น / วิธีตรวจวัดโดยชุมชน 3) พัฒนาหลักสูตรด้าน “การจัดการขยะให้เป็นศูนย์” เน้นการจัดการองค์ความรู้ ด้านการจัดการขยะด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 4)  การใช้เครื่องมือ online เน้นการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม และ 5) ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะชุมชนที่สำเร็จ เพื่อทำเป็นคู่มือสำหรับนำไปขยายผลในชุมชนอื่นๆต่อไป

            “จากความสำเร็จของ วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หรือ “ตาลเดี่ยวโมเดล” เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง  โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน  ได้แก่ 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย 1.เครื่องคัดแยกขยะรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่กำลังการผลิต 20-40 ตันต่อวัน พร้อมด้วยระบบกำจัดกลิ่นขยะ ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติกบรรจุภัณฑ์ เพื่อแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดมลพิษทางน้ำ และระบบการบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้สารเร่งตกตะกอนจากผลงานวิจัยของ วว. ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน 2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision สามารถแยกพลาสติก PVC ออกจากพลาสติกชนิดอื่นได้ และผลิตเกล็ดพลาสติกที่สะอาดมีคุณภาพ และ 3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วยระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ และระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5)  จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร นอกจากนี้ วว. ยังได้ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) ที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน  สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน  

            “…วว.จะนำองค์ความรู้งานวิจัยและการจัดการขยะแบบครบวงจรไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการใช้เครื่องมือ เช่น แอพพลิเคชันและเทคโนโลยีคัดแยกและแปรรูปขยะชุมชน ขยะอินทรีย์ และของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ให้แก่ชุมชน และ อปท.ในจังหวัดระยอง  ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยหวังเป็นอย่างยิ่ง ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะก่อให้เกิดชุมชนต้นแบบที่เป็น Waste sorting hub และในอนาคตและยกระดับเป็นสถานีการจัดการขยะชุมชนที่เป็น Junk Shop  นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย BCG และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ  ด้วยการบริหารจัดการพลาสติกด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน  ช่วยลดปัญหาขยะชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน… ” ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม

            นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าปริมาณขยะในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 15% โดยปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยจากวันละ 5,500 ตัน เพิ่มเป็น 6,300 ตันต่อวัน แต่สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้เพียง 23% เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม และลดปัญหาการสะสมขยะในชุมชน รัฐบาลจึงได้มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล 100% ภายในปี 2570 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน Dow และ วว. จึงได้นำความเชี่ยวชาญของทั้งสององค์กรมาบูรณาการร่วมกัน โดยจะนำความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และประสบการณ์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนของ Dow มาผสานกับองค์ความรู้ด้านทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ วว. โดยเริ่มจากการต่อยอดในชุมชนต้นแบบที่ทั้งสององค์กรได้เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก่อนจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในอนาคต

             “ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าได้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ซ้ำได้เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้ว โครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ Dow ได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้วคือ “การหยุดขยะพลาสติก” โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งผ่านกิจกรรมที่ Dow ดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือ” นายฉัตรชัย กล่าว