‘รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน’ ผนึกกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

804

ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 27 ผนึกกำลังเร่งทำตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมเห็นชอบแผนเศรษฐกิจของอาเซียน เน้นปรับปรุงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ฟื้นฟูท่องเที่ยว ทำแผนอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริม MSMEs เร่งทบทวนความตกลงการค้าสินค้ากับอินเดีย และเดินหน้าจัดทำกรอบความตกลงการค้าเสรีกับอียู พร้อมผสานความร่วมมือภาคเอกชน ด้านไทยขอสมาชิกช่วยผลักดัน RCEP ให้มีผลบังคับใช้มกราคมปีหน้า

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา

ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนดำเนินการสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Priority Economic Deliverable: PED) ตามข้อเสนอของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ภายใต้แนวคิด “We share, We prepare, We prosper” ซึ่งมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟู อาทิ การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (2) ด้านการเป็นดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564 – 2568 และ (3) ด้านความยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และ MSMEs ของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของอาเซียนภายหลังโควิด-19 เน้นการลดอุปสรรคการค้า เชื่อมโยงสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะตกลงขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นในช่วงโควิด-19 การเร่งเตรียมความพร้อมด้านการค้าดิจิทัล และหาทางให้อาเซียนขยายความสำคัญของการอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)  

ดร.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหาแนวทางสำหรับความตกลงต่างๆ ที่มีการลงนามร่วมกันแล้ว ให้เร่งการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของไทย ได้ย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากภาคเอกชนของอาเซียนและไทยจะต้องได้รับผลประโยชน์จากความตกลงฯ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศนอกภูมิภาคด้วย

สำหรับความสัมพันธ์กับนอกภูมิภาค ที่ประชุมได้เร่งหารือเรื่องการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย และปัญหาของกฎศุลกากรด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ของอินเดีย หรือ CAROTAR 2020 ที่มีต่อการค้ากับอาเซียน ซึ่งได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะเป็นอุปสรรคต่อการค้าสองฝ่ายอย่างมาก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งหารือจัดทำความเห็นต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป และเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยฝ่ายไทยได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศสมาชิก RCEP ควรจะต้องกำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เพื่อที่ทุกประเทศจะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายในที่ชัดเจน และได้แจ้งว่ารัฐสภาไทยได้ให้การรับรองแล้ว ซึ่งถือเป็นประเทศแรกและอยู่ระหว่างการเตรียมการภายในเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในกำหนด

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับภาคธุรกิจของอาเซียน (ASEAN-BAC) และรับทราบประเด็นที่ต้องการให้ผลักดันในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ MSMEs และสตาร์ทอัพ แรงงาน มาตรฐานและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงเอกสารทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างกัน ซึ่งที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของภาคเอกชน และความร่วมมือกับคณะกรรมการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์