นับวันโลกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนองค์การสหประชาชาติ (WHO) ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่กำหนดให้เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งการคืนความเขียวให้กับโลก คือ กุญแจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และจะทำให้โลกสามารถบรรลุ “Net Zero Emission” หรือ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero Emission ไว้ว่าจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการขับเคลื่อนในเชิงรุกริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้เพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและจริงจังจนสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในเบื้องต้นได้ประมาณร้อยละ 26
จากนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ทำสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) นำร่อง ณ บริเวณตรงข้ามแปลงผักปลอดสารพิษ และอาคารสิริวิทยา ซึ่งการปลูกต้นไม้ในแนวตั้งจะทำให้ได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากการปลูกต้นไม้ในแนวราบ
นอกจากนั้น ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะได้รับการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็น Eco Park ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมด้วยช่วยกันปลูกต้นไม้เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกของทุกปี เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะอันร่มรื่น
ซึ่งจุดเด่นของ Eco Park นี้จะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนจากต้นไม้ที่ปลูกขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช่จากการขุดล้อมต้นไม้ใหญ่มาปลูก โดยคาดว่าทั้ง Vertical Garden และ Eco Park จะสามารถช่วยดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณร้อยละ 33
และในอนาคตจะเสริมด้วยการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ โดยจะริเริ่มโครงการหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell Rooftop) ให้กับทุกส่วนงานในพื้นที่ศาลายา และจะให้มีการวางแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (Solar Cell Floating) ณ บริเวณลานเป็ด และแหล่งนันทนาการทางน้ำ โดยจะให้ภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลจ่ายค่าไฟได้ถูกลง และคาดว่าจะทำให้สามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้อีกถึงร้อยละ 65
“หากมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ได้ภายในปี 2030 นอกจากจะสามาถเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แล้ว ยังเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้แก่โลกของเราต่อไปอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย