ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในโลกยุคปัจจุบัน หนึ่งในปัจจัยสำคัญตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 12 ที่ว่าด้วยการบริโภคด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Consumption) คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
ด้วยสำนึกในความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในช่วงวิกฤติCOVID-19 จึงไม่อาจนิ่งเฉยต่อความทุกข์ยากของคนในชุมชน เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีที่ตั้ง ณ ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดสรรปรับปรุงอาคาร “ห้องเรียนปลายเนิน” ซึ่งเดิมใช้เพื่อการเรียนการสอนของอาจารย์ชาวต่างประเทศ และอาคาร “บ้านกลางน้ำ” ซึ่งใช้ทำกิจกรรมของนักศึกษา เป็น “ศูนย์พักคอยกันภัยมหิดล” (Mahidol University Community Isolation – MUCI) ตรวจคัดกรองและดูแลอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเบื้องต้น ขนาด 20 เตียง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่เป็นชาวชุมชนตำบลเขาทอง ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม 29 จังหวัดของประเทศ และประสบปัญหาโรงพยาบาลชุมชนประจำท้องถิ่นเตียงเต็มจนไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่ม พร้อมจัด 2 สูตรยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนเพื่อการบำรุงและรักษาอาการของโรค COVID-19
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า วิทยาเขตนครสวรรค์ มีความพร้อมทั้งในด้านอาคารสถานที่ บุคลากรทางการแพทย์ องค์ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาวะ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์” เพื่อเป็นที่พึ่งทางสุขภาวะของประชาชนในชุมชนมาเป็นเวลากว่า 2 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง โรงพยาบาลพยุหะคีรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลเขาทอง และวัดเขาทอง เปิดศูนย์พักคอยกันภัยมหิดล (Mahidol University Community Isolation – MUCI) ขึ้น ภายในวิทยาเขตฯ โดยรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการไปจนถึงมีอาการเล็กน้อย มาพักคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ในอาคารซึ่งปรับปรุงจากอาคารเรียนและอาคารทำกิจกรรมที่อยู่แยกจากพื้นที่หลักของวิทยาเขตฯ โดยมีนักศึกษาและบุคลากรของวิทยาเขตฯ พร้อมต้อนรับช่วยเหลือ
“ปัญหาโรคระบาด ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดปรากฏการณ์พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ จนโรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกปฏิเสธจากบางชุมชนที่ตนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการที่ชาวชุมชนตำบลเขาทองได้ร่วมแรงร่วมใจทำ Community Isolation ให้เกิดขึ้นนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยจุดประกายให้ชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป โดยจะไม่มองว่าเป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ต่อไปได้” อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงอาคาร “ห้องเรียนปลายเนิน” และอาคาร “บ้านกลางน้ำ” ให้เป็น “ศูนย์พักคอยกันภัยมหิดล” (Mahidol University Community Isolation – MUCI) แล้วศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีความโดดเด่นด้านแพทย์แผนจีน ยังได้คิดค้นสูตรยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนสำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มาพำนักที่ ศูนย์พักคอยกันภัยมหิดล (Mahidol University Community Isolation – MUCI) จากยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนที่มีอยู่แล้วของแผนกแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ถึง 2 สูตรด้วยกัน
แพทย์แผนจีน ธนัตเทพ เตระทวีดุลย์ หัวหน้าฝ่ายแพทย์ทางเลือก ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ได้เปิดเผยถึง 2 สูตรยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนที่ทางศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จัดไว้ในลักษณะบรรจุเสร็จสำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มาพำนักที่ ศูนย์พักคอยกันภัยมหิดล” ตลอด14 วันว่า ได้มาจากการศึกษาวิจัยของจีนซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย แล้วนำมาปรับเป็นสูตรเฉพาะของศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
ซึ่งยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนสูตร 1 ที่จัดสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะเป็นยาบำรุง ส่วนยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนสูตร 2 จัดสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ให้ดื่มได้ตามความสมัครใจ 1 ซอง / 1 มื้อ เช้า – เย็น โดย แพทย์แผนจีนธนัตเทพ เตระทวีดุลย์ ได้กล่าวถึงตัวยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนหลักที่ใช้เป็นยาบำรุงว่า มี 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ “ปักคี้” ที่มีรสหวาน สรรพคุณบำรุงปอด และลดอาการบวม “ไป๋จู๋” ที่มีรสขมและหวาน บำรุงม้าม ขับปัสสาวะ และระงับเหงื่อ และ”ฝางเฝิง” ที่มีรสเผ็ดและหวาน บำรุงตับ ระงับปวด และป้องกันไข้หวัด
โดยยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนทั้ง 3 ชนิดนี้รวมกันเป็นตำรับ “ยวี่ผิงเฟิงซ่าน” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีใช้มาอย่างยาวนาน โดยเป็นยาที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นระบบย่อยอาหารบำรุงปอด และม้าม มีฤทธิ์ขับพิษอ่อนๆ ส่วนยาเพื่อการรักษาควรจัดโดยแพทย์แผนจีนเท่านั้น ไม่ควรหามารับประทานเอง
แพทย์แผนจีน ธนัตเทพ เตระทวีดุลย์ ได้กล่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการใช้ยาสมุนไพรแพทย์แผนจีน ควบคู่กับยาสมุนไพรแพทย์แผนไทยว่าสามารถทำได้ โดยยาสมุนไพรบางชนิดที่ใช้ทั้งในแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทยก็มี เช่น ดอกคำฝอย (หงฮวา) ชะเอมเทศ (กำเช่า) โกฐเชียง (ตังกุยเหว่ย) ฯลฯ ส่วนยาที่ไม่ควรรับประทานร่วมกันก็มี เช่น ยาสมุนไพรแพทย์แผนจีน “เหลียนฮัวชิงเวินเจียวหนัง” ซึ่งที่มีฤทธิ์เย็นใช้รักษาโรค COVID-19 หากรับประทานร่วมกับยาสมุนไพรแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งใช้รักษาโรคCOVID-19 และมีฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไข้ไม่สูงมาก จะทำให้ร่างกายเกิดความเย็นที่มากจนเกินไป เป็นต้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์แผนจีนก่อนการรับประทานยาทุกครั้ง
เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง ในเร็ววันนี้จะได้มีการเผยแพร่สูตรสมุนไพรยาแพทย์แผนจีนทั้ง 2 สูตรของศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ทางFacebook : “ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์” และ “แผนกแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์” ต่อไป โดยประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามและสอบถามรายละเอียดได้ทาง inbox ของทั้ง 2 เพจดังกล่าว