ม.นานาชาติแสตมฟอร์ดเผยธุรกิจออกกำลังกายดาวรุ่งปี 65 ย้ำเอสเอ็มอีปรับตัวสู่มือถือเต็มรูปแบบสู้โควิด – 19

791

ในสถานการณ์ปี 2565 ภาวะวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 ยังคงไม่สงบนิ่ง ผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือในการประกอบธุรกิจ โดยอาจจะต้องให้ความสำคัญกับกระแสของการบริโภคในอนาคต หากเกิดสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ต่อไปต่อเนื่องในอนาคต อาจทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการลดค่าใช้จ่ายลง ทั้งนี้จากผลการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าค่าใช้จ่ายทางด้านความบันเทิง ศิลปะและวัฒนธรรม จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภค จะบริโภคน้อยลงเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการท่องเที่ยวก็จะลดลงตามไปด้วยเพื่อเป็นการประหยัดในช่วงสถานการณ์โควิด สิ่งสำคัญอีกประการผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดและผู้วิจัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจปี 2565 คือผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคมีความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการอย่างไร ซึ่งจะต้องทำให้สินค้ามีความแตกต่างกับคู่แข่งขัน สำหรับธุรกิจดาวรุ่งปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจทางด้านการออกกำลังกายและให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการและเทรนเนอร์ส่วนตัวผ่านทางโปรแกรมออนไลน์ ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งของปี 2565 รวมไปถึงธุรกิจทางด้านการแพทย์และเสริมความงาม ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างที่จะเติบโตได้ดีเนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นการ lockdown  ในช่วงสถานการณ์ โควิด -19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพและความงามเป็นสำคัญ นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับเกมออนไลน์หรือธุรกิจที่เป็นทางด้านเกมเพื่อการศึกษาจะเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่าผู้บริโภคมีเวลาในการศึกษาและทำงานที่บ้าน (work from home) เพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นธุรกิจที่ช่วยในการลดความตึงเครียดและสามารถเล่นได้ภายในที่พักอาศัย สำหรับธุรกิจดาวร่วง ได้แก่ ธุรกิจทางด้านหนังสือ สิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจะเป็นธุรกิจที่อาจจะเผชิญปัญหาในช่วงปี 2565 เนื่องจากเทรนด์หรือพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยการอ่านทางออนไลน์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และกระแสการรณรงค์ลดการใช้กระดาษที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจดังกล่าว 

“นอกจากนี้การนำสินค้าหรือบริการเข้าสู่แพลตฟอร์มทางออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือในช่วงวิกฤตโควิด – 19 ควรเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรศึกษาเพิ่มเติมอย่างมาก เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าและบริการในอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังควรออกแบบช่องทางการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าและบริการดังกล่าว ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐควรมีนโยบายในการจัดสรรเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่าย และลดเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจสำหรับการเปิดประเทศครั้งนี้ ทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสามารถเติบโตทางธุรกิจได้ท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ในปี พ.ศ. 2565” ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย