“พาณิชย์-DITP”แนะผู้ส่งออกศึกษากรณีแอฟริกา 22 ประเทศใช้ระบบ e-trade

350

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทยจับตากรณีเคนยาจับมือประเทศในแอฟริการวม 22 ประเทศ นำระบบ e-trade มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้าระหว่างประเทศและช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้า ชี้ควรศึกษา ก่อนนำมาปรับใช้ในการทำตลาดส่งออกของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี เคนยา ถึงการใช้งาน Single Window Entry Platform ที่เรียกว่า “Ken Trade e-Single Window” หรือ “Trade Facilitation Platform (TFP)” ที่จัดทำโดยหน่วยงานส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านการค้าเคนยา (Ken Trade) เพื่อจัดการการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้า (one single entry shipping documents) กับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา ที่มีความร่วมมือกัน เช่น เคนยา โมร็อกโก ตูนิเซีย แคเมอรูน และเซเนกัล และประเทศอื่น ๆ รวม 22 ประเทศ

สำหรับระบบ e-trade ดังกล่าว ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดยจะเริ่มต้นเชื่อมกันระหว่าง 22 ประเทศในแอฟริกา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขนส่งสินค้า การแลกเปลี่ยนเอกสารการส่งออก-นำเข้า ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทั้งหมดอย่างเป็นระบบผ่านระบบออนไลน์ เช่น การชำระภาษีนำเข้า ค่าบริการการขนส่ง เอกสารในการจัดส่งสินค้า ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทขนส่ง ผู้ส่งออก-นำเข้า เป็นต้น ของ 22 ประเทศสมาชิกดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ Ken Trade ได้ดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลออนไลน์ดังกล่าว โดยมีแนวคิดและการพัฒนาให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนเกี่ยวกับสถานะของการจัดส่งสินค้าแบบเสมือนจริง (Real time) ซึ่งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถ ทราบต้นทุน และระยะเวลาของการส่งสินค้าในแต่ละครั้งจากประเทศต้นทางไปสู่ประเทศปลายทางได้ เช่น ผู้ส่งออกเคนยาส่งออกสินค้าอโวคาโดไปอียิปต์ สามารถคาดการณ์ได้ว่าสินค้าของตนเองไปถึงผู้นำเข้าในอียิปต์วันไหน และ มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งและส่งออกจำนวนเท่าใด 

นายภูสิตกล่าวว่า การดำเนินการของ Ken Trade ของเคนยา แสดงให้เห็นถึงการที่ประเทศในแอฟริกาโดยเฉพาะเคนยา ที่มุ่งหวังในการนำเทคโนโลยีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศของตนกับประเทศคู่ค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าระหว่างกันมีความโปร่งใสและติดตามได้แบบเสมือนจริงมากขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันแก่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และยังช่วยให้ลดระยะเวลาในการยื่นเอกสารรับรองต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กรมฯ เห็นว่า ผู้ส่งออกไทยควรเริ่มศึกษาว่าหากประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา นำเอาระบบดังกล่าวมาใช้มากขึ้น จะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศแอฟริกาจะลดลง และอาจส่งผลกระทบในการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม มีต้นทุนเปรียบกับกลุ่มดังกล่าว มีต้นทุนที่มากกว่าและเสียเวลามากกว่า และหากในอนาคตไทยมีความร่วมมือในเรื่องการค้ากับแอฟริกามากขึ้น ก็ควรให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลของไทยให้เข้าไปอยู่ระบบดังกล่าวด้วย ซึ่งกรมฯ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในเคนยาทำการตรวจสอบกับผู้นำเข้าและบริษัทขนส่งสินค้าในเคนยา เพื่อสอบถามผลดีผลเสียในการใช้งานในระบบดังกล่าว เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาแก่ผู้ส่งออกที่สนใจตลาดแอฟริกาต่อไปแล้ว

นักธุรกิจหรือผู้ส่งออกที่มีความสนใจจะทำการส่งออกสินค้าหรือเข้ามาลงทุนในตลาดเคนยาหรือแอฟริกาตะวันออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับทูตพาณิชย์ ณ กรุงไนโรบี ที่ email. info@ocanairobi.co.ke หรือติดต่อ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169