นวัตกรรมการสกัดขนแพะมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอม สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ผ่านการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ (การสกัดแยกกลิ่นและศึกษา Male Pheromone จากขนแพะเหลือทิ้ง) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่พัฒนาสำเร็จมีกลิ่นเฉพาะตัว โดดเด่น และลอกเลียนแบบยาก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ดร.ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากขนแพะ : HIRCUS” ในเวที Research Expo Talk กิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
ทั้งนี้ทีมนักวิจัยพบว่า เมื่อนำขนแพะมาสารสกัด มีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ เนื่องจากมีกรดไขมัน (Fatty acid) สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxident) เมื่อนำมาพัฒนาเป็นน้ำหอม นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอางในระดับอุตสาหกรรมได้ หากนำมาใช้แพร่หลายจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสูงสามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมนโยบาย BCG ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ มีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติ และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ในนโยบาย BCG
“…การวิจัยซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาราคา 1,000 บาท ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัม จะได้สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ผลิตเป็นน้ำหอมได้ 3 ขวด สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้ประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ขณะนี้มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือเป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้สามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น…” ดร.ขนิษฐา กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2577-9000 Email : tistr@tistr.or.th เว็บไซต์ www.tistr.or.th