ปฏิบัติการ ‘เสือปืนไว’ Line ไล่ล่าทุกธุรกิจดิจิทัลไลฟ์

2429

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า Line ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้นตามลำดับ จากจำนวนผู้ใช้งานในหลากหลายกิจกรรมกว่า 41 ล้านบัญชี ทั้งเพื่อการสนทนา ตกแต่งภาพถ่าย เล่นเกมส์ สั่งอาหาร อ่านข่าว ดูหนัง ฟังเพลง ชอปปิ้ง ทำธุรกรรมทางการเงิน ไปจนถึงการนำเสนอขายสินค้า ผ่านบริการของไลน์ B612, Line Mobile, Line Man, Line Today, Line TV, Rabbit Line Pay, Line@ ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบทุกธุรกิจดิจิทัลไลฟ์ Line ได้เข้าไปยึดหัวหาด จนกลายเป็นผู้นำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มว่าการรุกคืบขยายแพลตฟอร์มเข้าไปยังธุรกิจอื่นๆ ยังจะตามมาอีกหลายระลอก

พัฒนาการแอพฯสนทนาไลน์

รับรู้กันทั่วไปว่า Line นั้น เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลีใต้ แต่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ญี่ปุ่น จุดกำเนิดของแอพพลิเคชั่นไลน์เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิถาโถมเข้าบริเวณแนวชายฝั่งเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 2554 ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองมหาศาล โรงไฟฟ้า สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายนับพันนับหมื่นคน

แอพสนทนาไลน์มุ่งหวังจะเป็นสื่อกลาง ในการติดต่อสื่อสาร แจ้งเหตุ เตือนภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต ผู้สูญหาย จากมหาอุบัติภัย ไม่เฉพาะแค่คนในพื้นที่ แต่ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศต่างก็ใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กระทั่งเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไลน์ ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสอีกกรณีหนึ่งก็ว่าได้

ด้วยสายสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ ทั้งสองประเทศจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอมา ไม่เว้นแม้แต่เหตุการณ์ในครานั้น ชาวไทยต่างแสดงออกซึ่งน้ำใจไมตรีในหลายรูปแบบ จัดส่งข้าวของเครื่องใช้ ระดมทุนมอบเงินบริจาค ตลอดจนส่งข้อความแสดงความเสียใจ RIP มอบให้แก่มิตรภาพแดนซามูไรกันอย่างท่วมท้น

จึงไม่แปลก หากแอพพลิเคชั่นไลน์จะเข้ามาเปิดตัวในไทยเมื่อราวกลางปี 2555 จึงได้การตอบรับอุ่นหนาฝาคั่ง

ระยะแรก ไลน์ โฟกัสให้บริการในเรื่องการเป็นแอพสนทนา คล้ายกับ Whats App และ BBM ที่ได้รับความนิยมในเวลานั้น โดยออกแบบฟีเจอร์ให้ใช้งานง่าย โทรด้วยเสียง วีดีโอคอลล์ มีเกมส์ให้เล่น และเพิ่มความโดดเด่นด้วย สติ๊กเกอร์ไลน์ ในอิริยาบถน่ารัก กวนๆ ทำเอาผู้ใช้ชาวไทยถูกอกถูกใจ ทั้งดาวน์โหลดฟรีและซื้อเพื่อการแชทและแชร์ไปยังกลุ่มเพื่อนๆกันอย่างเพลิดเพลิน

ต่อมา ไลน์ ก็ต่อยอดพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวเนื่อง ทั้ง Line Camera แต่งรูป ตัวอักษร, Line Tool, Line Play, Line Dictionary ควบคู่ไปกับการนำเสนอบริการ Line Sticker Shop และ Line Creator Market แพลตฟอร์มกลางซื้อขาย และเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้ส่งผลงานมาขาย แบ่งรายรับ 50:50 ระหว่างไลน์และครีเอเตอร์

พัฒนาการของไลน์ในไทยรุดหน้าไปแบบก้าวกระโดด ยิ่งการได้ อริยะ พนมยงค์ เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ในช่วงปลายปี 2558 นักบริหารธุรกิจดิจิทัลมือฉมัง ที่เคยร่วมงานกับยักษ์ไอทีโลกกูเกิ้ล และได้สร้างแรงกระเพื่อมไปในแทบทุกธุรกิจยุค 4.0 ด้วยการจะขึ้นเป็นผู้นำ Smart Portal ในทุกกลุ่มธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ครอบคลุม Communication, Content, Commerce และ Service

Line ปูพรมทุกธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์  

เป็นที่ชัดเจนว่าในสนามแอพสนทนา ไลน์เป็นเบอร์หนึ่งมาพักใหญ่แล้ว จากจำนวนผู้ใช้ล่าสุดในปี 2560 ที่ 41 ล้านบัญชี แม้จะมีคู่แข่งอยู่บ้าง ทั้ง Facebook Messenger, Kakao Talk จากเกาหลีใต้เช่นกัน หรือ BEE Talk แต่ก็ไม่ได้การตอบรับจากผู้ใช้คนไทยมากนัก

สถานการณ์ลักษณะนี้จะคล้ายกับหลายประเทศทั่วโลก ที่แชทแอพพลิเคชั่นจะได้รับความนิยมเพียง 1-2 แอพเท่านั้น เช่นที่อเมริกา มีผู้ใช้ Whats App มากสุด ประเทศจีนนิยม We Chat และ QQ เกาหลีใต้ ชอบใช้ Kakao Talk ส่วน Line จะครองใจ 4 ประเทศในเอเชีย ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย จากจำนวนทั้งหมด 230 ประเทศทั่วโลก

เมื่อมัดใจผู้ใช้อยู่หมัดแล้ว ไลน์จึงขยายบริการไปยังธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบ Cross Service โดยเฉพาะที่อยู่ในกระแสฮอตฮิต สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ทั้งการดำเนินการเองและจับมือกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ

สะท้อนจากการผุดบริการ Line Man จัดส่งพัสดุและอาหารดิลิเวอรี่ 24 ชั่วโมง ก่อนที่ต่อมาจะผนึกกับ Wongnai ผู้นำแพลตฟอร์มในธุรกิจนี้ ต่อยอดบริการให้หลากหลายและครบวงจรมากขึ้น ผลักดันให้ปัจจุบัน Line Man มียอดผู้ใช้บริการเฉลี่ย 4 แสนคน/เดือน ขึ้นเป็นผู้นำได้ในที่สุด ปล่อยให้คู่แข่งไม่ว่าจะรายเล็ก กลาง หรือใหญ่ Uber Eat, Grab Food, Foodpanda, LaLamove และผู้เล่นเอสเอ็มอีไทยรายอื่นๆ ได้แต่มองตาปริบๆ

ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปีที่ผ่านมา Line Man ยังนำเสนอฟีเจอร์ Line Taxi เพิ่มเติม เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ  ส่งสัญญาณการชิมลางเข้าไปชิงเค้กในธุรกิจนี้อย่างเปิดเผย

Line Today แพลตฟอร์มข่าวสารที่กำลังมาแรง โดยเนื้อหาการนำเสนอมีทั้งที่ไลน์ผลิตคอนเทนต์เอง ในเชิงไลฟ์สไตล์ สุขภาพ ราวร้อยละ 20 ที่เหลือร้อยละ 80 จะเป็นการเผยแพร่คอนเทนต์จากพันธมิตรสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการ ข่าวสด ช่อง 7 อมรินทร์ทีวี พีพีทีวี ดาราเดลี่ เอ็มไทย เดอะสแตนดาร์ท ฯลฯ ซึ่งถูกบรรจุไว้เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ในแอพไลน์ ทั้งยังสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์เป็นการเฉพาะ

การเป็นแพลตฟอร์มกลางด้านคอนเทนต์ข่าวสารลักษณะนี้ ว่ากันตามจริงเนื้อหาของไลน์ที่ผลิตเอง ก็แทบไม่มีความแตกต่างจากเว็บไซต์วาไรตี้ทั่วไป ส่วนการเข้าร่วมของค่ายพันธมิตรสื่อ แม้หลายราย UIP เว็บจะทะลุหลายแสนถึงหลักล้านคนต่อวัน แต่เมื่อเทียบกับฐานลูกค้าของไลน์กว่า 40 ล้านบัญชีดังกล่าว ก็ย่อมยากที่จะปฏิเสธ

Line TV มีทั้งแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์เช่นกัน นำเสนอบริการรับชมรายการทีวีแบบ on demand ด้วยการจับมือกับพันธมิตรผู้ประกอบการทีวีและผู้ผลิตรายการ เช่น เวิร์กพอยท์ ช่องวัน ช่อง 8 ช่อง 3 จีเอ็มเอ็ม 25 พีพีทีวี MCOT HD ทีวีธันเดอร์ GDH และ bein Sport ผู้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมทั้งสิ้น 161 ราย โดยแบ่งคอนเทนต์นำเสนอออกเป็น ละคร บันเทิง ไลฟ์สไตล์ กีฬา แอนิเมชั่น ถ่ายทอดสด และเพลง ซึ่งได้ยกเลิกบริการ Line Music แล้วนำมารวมไว้ในกลุ่มธุรกิจสตริมมิ่งนี้

หลังให้บริการมาแล้วประมาณ 3 ปี ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า Line TV ได้ขึ้นเป็นผู้นำแพลตฟอร์มดูวีดีโอย้อนหลัง ด้วยยอดดาวน์โหลดรวมกว่า 20 ล้านครั้ง ขณะที่การรับชมผ่านช่องทางนี้ จะใช้เวลาเฉลี่ย 176 นาที/วัน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของการรับชมช่องทีวีปกติ

แม้แต่ในสมรภูมิโอเปอเรเตอร์มือถือ ที่การแข่งขันหนักหน่วงรุนแรง มี 3 ค่ายหลัก AIS Dtac และ True ฟาดฟันกันอยู่ ไลน์ก็เข้าร่วมวง จับขั้วค่ายมือถือ Dtac เปิดตัว Line Mobile มีเป้าหมายจะให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนมาใช้ซิมทางเลือกใหม่ ด้วยกลยุทธ์สงครามราคา ลดสูงสุด 70% ค่าใช้จ่ายต่อเดือนถูกลง สัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย รับสิทธ์พิเศษหากชวนเพื่อนมาใช้ ฯลฯ

และต่อไปบรรดาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นกลุ่ม หาคน-หางาน ก็คงต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆกัน เมื่อไลน์เริ่มเจาะเข้ามาในหมวดหมู่นี้ กับบริการใหม่ Line Job ที่เปิดตัวไปช่วงปลายปีที่ผ่านมา เริ่มแรกมีตำแหน่งงานจากพันธมิตรธุรกิจ บริษัท องค์กรต่างๆ ป้อนเข้ามาในระบบแล้วประมาณ 5,000 ตำแหน่ง

ล่าสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ Line Financial Corporation เพื่อร่วมชิงชัยในธุรกิจ Fintech (Financial Technology) เต็มตัว โดยจะให้บริการเทรดเงินเสมือน (Virtual Currency) หรือ Bitcion ธุรกิจกู้ยืม และธุรกิจประกันภัย รองรับกับการกระแสสังคมไร้เงินสดในอนาคต   

แถมไลน์ยังจะรุกคืบไปเข้าเจาะใน ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือการใช้บรรดาเซเล็บ บล็อกเกอร์ หรือเน็ตไอดอล แนะนำ เขียนบทความ หรือทดลองใช้สินค้า/บริการ ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คของตน ที่มีผู้ติดตามหลายหมื่นหลายแสนคน โดยจะใช้ชื่อว่า Line Idol  คาดว่าคงจะนำเสนอออกมาเร็วๆนี้ ซึ่งแพลตฟอร์มลักษณะนี้ในไทยยังมีผู้เล่นไม่มากนัก กลุ่มผู้เล่นหลักที่เห็นก็เช่น Revu และ Tellscore

เปิดรายได้ Line ในไทย

การแตกหน่อต่อยอดธุรกิจของไลน์แบบ 360 องศา ในไทย สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น 3 แนวคิดหลัก คือ 1. การเชื่อมต่อทุกบริการเข้าหากัน (Everything Connected) เป็นเกตเวย์สำหรับการชอปปิ้ง ชำระเงินออนไลน์และออฟไลน์ 2. นำพาบริการเข้าสู่ยุควิดีโอคอนเทนต์ (Everything Videolized) และ 3. ผู้ช่วยอัจฉริยะในทุกบริการ (Everywhere AI)

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Nikkei รายงานผลประกอบการของ Line ประจำไตรมาสที่ 4/2016 มีรายได้ 37,465 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 15.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ โฆษณา กลายมาเป็นรายได้หลักของ LINE ซึ่งยังคงมีการเติบโตที่ดี เพิ่มขึ้น 48% จากปีก่อน ขณะที่รายได้จากผู้ใช้งาน อย่างการขายสติกเกอร์และสิ่งของในเกมมีแนวโน้มลดลง 9.6% และ 7.5% ตามลำดับ

ส่วนจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในปัจจุบันมี 217 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15.4% โดยเป็นผู้ใช้ใน 4 ประเทศหลัก (ญี่ปุ่น, ไทย, ไต้หวัน และอินโดนีเซีย) รวม 167 ล้านคน ส่วน LINE NEWS มี 106 ล้านคน และ B612 มี 93 ล้านคน

“แนวโน้มรายได้จากโฆษณายังคงสดใส และจะเพิ่มเป็นรายได้ 50% ของรายได้รวมในเร็วๆ นี้ ส่วนการขยายสู่ตลาดประเทศใหม่ๆ ซึ่งแอพสนทนาเริ่มยึดครองพื้นที่กันชัดเจนแล้ว LINE จึงจะโฟกัสที่การเพิ่มรายได้ในประเทศที่เป็นฐานที่มั่นทั้ง 4 แห่งเป็นหลัก” Takeshi Idezawa ซีอีโอ LINE ระบุ

ขณะที่ ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลประกอบการของ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ที่แจ้งล่าสุดคือปี 2559 มีรายได้รวม 137.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% ด้านรายจ่ายรวมอยู่ที่ราว 350 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการขาย/บริการ 237.39 ล้านบาท ต้นทุนขาย 107.81 ล้านบาท และดอกเบี้ย 4.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 267% เมื่อหักลบกลบหนี้ ไลน์ในไทย ขาดทุนที่ 211.61 ล้านบาท ลดลง 30.91%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการเปิดแนวรุกรอบทิศทาง แม้ทางไลน์จะบอกว่าหาใช่การ Disruption หรือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง อันส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ตรงกันข้ามกลับจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า

แต่จากแนวทางการแตกไลน์ธุรกิจดังข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมส่งผลต่อหลากธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์ไม่มากก็น้อย ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็คงทำได้เพียงใช้ Line@ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยสร้างการรับรู้และยอดขายจะมากหรือน้อยก็อีกเรื่อง…

เพราะคงมีน้อยรายนัก ที่ไม่อยากตีตั๋วร่วมขบวนไปกับรถไฟสาย Line?!    

ที่มา : www.smemestyle.com