ตลาดสด ตลาดบก ตลาดน้ำ ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย

7927

“ตลาด” ผูกพันกับคนไทยเรามาช้านาน เพราะความสำคัญของตลาดนั้นมีมากมายหลายมิติ ครอบคลุมทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน การท่องเที่ยว ไปจนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตเราชนิดแยกขาดจากกันไม่ได้

สมัยสุโขทัย-อยุธยา เรียกตลาดว่า “ป่า”    

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ปรากฏข้อความในจารึกว่า “เบื้องตีนนอนสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว มีป่าหมากลาง มีไร่นา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังเรียกตลาดว่าป่า เช่น ป่าตะกั่ว ขายลูกแหและสิ่งที่ทำมาจากตะกั่ว ป่าผ้าไหม ขายผ้าไหม ป่าสังคโลก ขายถ้วยชามสังคโลก ป่าฟูก ขายที่นอนหมอนมุ้ง ป่ามะพร้าว ก็ขายมะพร้าว เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอยู่คู่กับคนไทยมานานหลายร้อยปีแล้ว

สภาพตลาดยุคต้นรัตนโกสินทร์ในกรุงเทพฯ (เครดิตภาพ – หอสมุดแห่งชาติ)

ต่อมาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการขุดคูคลองรอบพระนครหลายแห่ง ทางหนึ่งเพื่อป้องกันภัยจากผู้รุกราน อีกทางก็เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่และการค้าขาย จนกลายเป็น “ตลาดน้ำ” แหล่งซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญๆหลายพื้นที่ เช่น ย่านบางประกอก ท่าเตียน คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม และตลาดน้ำวัดไทร ฯลฯ

เส้นทางสัญจรและการค้าขาย คลองผดุงกรุงเกษม (เครดิตภาพ – หอสมุดแห่งชาติ)

ครั้นมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ตลาดบก” ก็เริ่มเป็นที่แพร่หลาย  สืบเนื่องจากพระองค์ทรงทำ สนธิสัญญาบาวริ่ง กับประเทศอังกฤษ ประหนึ่งเปิดเสรีการค้ากลายๆ ส่งผลให้ไทยเรามีการติดต่อทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น การทำมาค้าขายทางน้ำก็เคลื่อนย้ายขึ้นมาบนบก ตามพระราโชบายพัฒนาประเทศของพระองค์  โดยตลาดสำคัญๆที่เกิดขึ้น ก็คือ ตลาดท่าเตียน ตลาดบางรัก ตลาดเสาชิงช้า และตลาดบางลำพู เป็นอาทิ

อย่างไรก็ดี การปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ เกิดขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพัฒนาทั้งด้านการไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์ ตัดถนนหนทาง สร้างพระราชวัง หน่วยงานราชการ และตึกรามบ้านช่องตามแบบอย่างอารยประเทศ ก่อให้เกิดย่านการค้าสมัยใหม่ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในย่านถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ถนนสี่พระยา และถนนตะนาว ตลอดจนการก่อสร้าง “ตลาดนางเลิ้ง” ที่นับเป็นตลาดบกแห่งแรกที่สร้างขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

บรรยากาศตลาดนางเลิ้งปัจจุบัน (เครดิตภาพ – businessseventhailand)

พัฒนาการของตลาดปัจจุบัน

นับแต่นั้นเรื่อยมา ตลาดรูปแบบใกล้เคียงกันก็กระจายออกไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จำหน่ายเนื้อสัตว์ พืช ผัก ผลไม้ ข้าวของเครื่องใช้ ทั้งเหมือนและต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน สถานะของตลาดในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนผู้คนในชุมชนจะเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยชาวบ้านร้านตลาดต่างยินยอมพร้อมใจให้มีแหล่งพบปะ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตลาดนัดชั่วคราว หรือตลาดสดแบบถาวรก็ตาม

จนกระทั่ง มาถึงในยุคผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้จัดระเบียบสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของไทยเราในหลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องตลาด โดยท่านเห็นว่าบริเวณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระอารามหลวงเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นสง่าราศีของประเทศนั้น กลับมีทัศนียภาพไม่เจริญหูเจริญตา ส่วนหนึ่งก็เพราะถูกบดบังด้วยตลาดและพ่อค้าแม่ขาย ที่วางขายสินค้านานาชนิดอยู่โดยรอบ

ครั้นจะขับไล่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก็เกรงจะกระทบต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน รัฐบาลของท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้ง องค์การตลาด ขึ้นบริเวณปากคลองตลาด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2496 ให้สังกัด กรมประชาสงเคราะห์ จากนั้นในปี 2501 ได้โอนหน่วยงานมาอยู่ใต้สังกัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหวังจะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง ทว่า อีก 4 ปีต่อมา ในปี 2505 สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้โอนย้ายองค์การตลาด มาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงมหาดไทย มาจนถึงทุกวันนี้

เครดิตภาพ : FlowerMarketThailand

โดยตลาดในกำกับดูแลขององค์การตลาดปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 5 แห่ง 4 จังหวัด ประกอบด้วย 1) ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ 2) ตลาดตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 3) ตลาดบางคล้า ฉะเชิงเทรา 4) ตลาดหนองม่วง ลพบุรี และ 5) ตลาดลำพูน จังหวัดลำพูน

นอกจากนี้ ยังมีตลาดในความดูแลของกระทรวง กรม และองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ตลาด อตก. ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร รัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2517 มีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรด้านการตลาด การเจรจา การจำหน่าย และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นสำคัญ

เครดิตภาพ : ortorkormarket

โดยเฉพาะตลาดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขตนั้น ข้อมูลในปี 2558 ระบุว่ามีรวมกันทั้งสิ้น 364 แห่ง ในจำนวนนี้จะเป็นตลาดของกทม.เองและตลาดที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ แต่ปัจจุบันในปี 2561 เชื่อว่าน่าจะทะลุ 400 แห่ง แม้จะมีทั้งตลาดที่ปิดไปหรือเปิดใหม่ก็ตาม ซึ่งกทม.มีหน้าที่ต้องจัดสร้างตลาดให้เหมาะสมแก่สภาพของชุมชน การดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย การกำหนดระเบียบการดำเนินงานของตลาด ควบคุมราคาสินค้าที่จำหน่ายในตลาด ตลอดจนการส่งเสริมตลาดเอกชน ฯลฯ

อนาคตของตลาดยุคใหม่

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่การรุกคืบเข้ามาของยักษ์ค้าปลีกระดับโลก แม็คโคร เทสโก้ บิ๊กซี คาร์ฟูร์ รวมไปถึงบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ที่จะจัดโซนจำหน่ายเนื้อสัตว์ พืช ผัก ผลไม้ ของสด ของแห้ง ไว้รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบตลาดติดแอร์

ระยะแรกก็หวั่นเกรงกันว่า อาจส่งผลกระทบต่อตลาดสดทั่วประเทศเข้าอย่างจัง ทำเอาผู้ประกอบการตลาดสดและพ่อค้าแม่ขายลุกฮือต่อต้านเป็นการใหญ่ แต่ด้วยกฎ กติกา การค้าโลก ภายใต้ระบบการค้าเสรี ที่ไทยเราก็ไม่อาจต้านทานกระแสได้ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้การแข่งขันดำเนินไปตามเงื่อนไขนี้

ต่อเมื่อระยะเวลาผ่านไป การประชันขันแข่งระหว่างสองฝ่าย แม้จะเป็นมวยคนละรุ่น ก็ต้องถือว่าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ดังจะเห็นได้จากยักษ์ค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส คาร์ฟูร์ ยอมยกธงขาว ขายเครือข่ายสาขาทั้งหมดในไทยให้กับบิ๊กซี ส่วนจำนวนตลาดทั่วประเทศแม้จะมีบางส่วนที่ปิดตัวไป แต่ก็มีตลาดใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ยิ่งเมืองขยายตัวออกไป หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก็จะมีตลาดเปิดใหม่ขึ้นทันทีเช่นกัน

เครดิตภาพ : yingcharoen

อย่างไรก็ตาม การจะจัดสร้างตลาดในปัจจุบันไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน เพราะจะมีกฎระเบียบบังคับอย่างเคร่งครัด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กำหนดนิยามและระบุสาระสำคัญของตลาดไว้ 2 ประเภทหลัก

“ตลาดประเภทที่ 1” ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551 หมายถึง ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร ต้องมีส่วนประกอบของสถานที่และสิ่งปลูกสร้าง คือ อาคารสิ่งปลูกสร้างสำหรับขายของ ที่ขนถ่ายสินค้า ห้อมส้วม ที่ปัสสาวะ อ่างล้างมือ ที่เก็บรวบรวมหรือรองรับมูลฝอย และที่จอดยานพาหนะ

“ตลาดประเภทที่ 2” ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551 หมายถึง ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร และต้องจัดให้มีสถานที่สำหรับผู้ขายของ ห้องส้วม ที่ปัสสาวะ อ่างล้างมือ และที่เก็บรวบรวมหรือที่รองรับมูลฝอย

ถอดรหัสอีกที ตลาดประเภทที่ 1 จะเป็นลักษณะของ ตลาดสด ส่วนตลาดประเภทที่ 2 ก็อยู่ในข่าย ตลาดนัด นั่นเอง

จากที่กล่าวข้างต้นว่าตลาดนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนระหว่างการจับจ่ายซื้อของในตลาดสดและตลาดติดแอร์ นั่นก็คือ…ตลาดสดจะมีชีวิต ตลาดติดแอร์ไร้ซึ่งชีวา!

และยิ่งหากตลาดสด ตลาดบก หรือตลาดน้ำใดมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ของสด ของแห้ง มีคุณภาพมาตรฐาน อาหารการกินหลากหลาย อร่อย สภาพแวดล้อมโดยรวมสะอาด ถูกหลักอนามัย รวมถึงมีการพัฒนาในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง

เครดิตภาพ : talaadthai

โดยเฉพาะในยุคดิจิตอล ได้ปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ สร้างการรับรู้ผ่านเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสาร ราคาสินค้า จัดวางระบบการซื้อขาย การจัดส่งออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้ออีกทาง ดังที่ตลาดหลายแห่งเริ่มนำร่องไปบ้างแล้ว เช่น ตลาดอตก. ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดเยาวราช ตลาดน้ำขวัญเรียม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกัน สร้างความเข้มแข็งได้ในระยะยาว

เครดิตภาพ : kwanriamfloatmarket

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ชีพจรของตลาดก็ยังคงจะเต้นไปตามจังหวะอย่างคงที่ไม่แปรเปลี่ยน.

ที่มา : www.smemestyle.com