ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวถึง การสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลในไทยประจำปี 2560 ว่าทิศทางแนวโน้มที่สรุปได้จากการสำรวจนี้ จะสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจวางแผน และรับมือการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นผลมาจาก digital disruptive technologies ได้เป็นอย่างดี จากการสำรวจพบว่า ตลาดฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปี 2560 โดยภาพรวมมีมูลค่า 294,542 ล้านบาท อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ยังเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2561-2562 ประมาณร้อยละ 3-5 เพราะฮาร์ดแวร์เป็นสิ่งจำเป็นของการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตยุคใหม่ และการสำรวจปีนี้เป็นปีแรกที่มีการสำรวจอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจทดลองใช้งาน มีความเป็นไปได้ที่ปี 2562 จะนำไปสู่การใช้งานจริงของภาคธุรกิจ ที่ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจยุคใหม่ที่เกี่ยวโยงกับทั่วโลก โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญรองรับความเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ในส่วนของผู้พัฒนาและผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ หรืออุปกรณ์ไอโอทีมีน้อยราย เพราะสู้กับการพัฒนาครบวงจรของผู้ประกอบการจากประเทศจีนไม่ได้ ต้องผันตัวไปนำเข้าอุปกรณ์และพัฒนาซอฟต์แวร์สั่งการอุปกรณ์เหล่านั้น และ/หรือทำหน้าที่เป็นเอสไอ
โดยมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2560 มีมูลค่าการบริโภคซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 78,818 ล้านบาท โดยเติบโตจากปี 2559 ร้อยละ 1.6 โดยคาดการณ์ว่าปี 2561 และ 2562 ตลาดการบริโภคซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ จะเติบโตร้อยละ 15.19 และ 17.5 ตามลำดับ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์โดยรวมมีการเติบโตจากปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการด้านไอทีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ได้รับอานิสงส์จาก 4 ปัจจัยคือ 1. การทรานฟอร์มธุรกิจไปสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจต่าง ๆ จากนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล 2. การปรับตัวของผู้ประกอบการที่มุ่งไปสู่การสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น Cloud, Big Data, AI, Blockchain, IoT 3. ความพยายามในการสร้างซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มที่เป็นทรัพย์สินของตนเอง และ 4. การเกิดธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการรายใหม่ ที่แม้จะยังมีขนาดเล็กแต่มีแนวโน้มที่ดีรายได้ของผู้ประกอบการด้านบริการดิจิทัลในประเทศ ปี 2560 มีมูลค่ารวม 36,326 ล้านบาท บริการด้านการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) รายได้รวม 11,356,335,631 บาท ในส่วนของกลุ่มบริการด้านเนื้อหา (e-Content) และบริการด้านสื่อบันเทิง (e-Entertainment) เป็นกลุ่มที่มีผู้ใช้งานสูงสุดจากการวัดด้วยจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ โดย e-Content มีปริมาณการเข้าเว็บไซต์ต่อเดือน 1,896 ล้านครั้ง และ e-Entertainment ปริมาณการเข้าเว็บไซต์ต่อเดือน 558 ล้านครั้ง
ด้านรศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร ว่าการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรควรดำเนินการในระดับนโยบายหรือเป็นวาระแห่งชาติ ปลูกฝังให้เรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปฐมวัย มีการเรียนการสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับมัธยมและอาชีวะ ในระดับอุดมศึกษา ควรปรับหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่เมื่อแนวโน้มมีการเปลี่ยนแปลง บ่มเพาะความรู้เฉพาะทางให้แก่นักศึกษาก่อนจบให้พร้อมทำงาน พัฒนาบุคลากรนอกระบบการศึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ต่อผู้ประกอบการ มีนโยบายให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยีใหม่ หาช่องทางการตลาด วางแนวทางการเติบโต เพื่อเปิดโอกาสในการขยายออกสู่การตลาดวงกว้าง
ทั้งนี้ การสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลไทย 3 อุตสาหกรรม รวมถึงการคาดการณ์ปี 2561-2562 เป็นภาพรวมตลาดของไทย ซึ่งตอกย้ำว่าทุกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัล โดยพบประเด็นสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตขึ้น คือ กระแสของการใช้ดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคบริการ และมีแนวโน้มอัตราการใช้ดิจิทัลเติบโตขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้ง Social Platform, Cashless Society, Blockchain, Chat Bot, Programmatic และคลิปวิดีโอรวมถึง ภาพ 3D, Augmented Reality, และ Virtual Reality ที่จะเป็นสื่อที่มีความสำคัญมากขึ้น ในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และงานสาธิตสินค้า ภาครัฐ และเอกชน จึงต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก รวมถึงบุคลากรที่ต้องเร่งพัฒนาทักษะให้ก้าวทันเทคโนโลยี เพราะโลกยุคดิจิทัลเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างเสรี และมีความได้เปรียบเหนือธุรกิจไทยทั้งในด้านเทคโนโลยี ทักษะบุคลากร เงินทุน และกฎระเบียบที่เอื้อหนุนต่อธุรกิจในโลกดิจิทัล โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเนื้อหาการสำรวจในครั้งต่อไปแน่นอน