‘ดิสเพลย์-ดีไซน์’ สิ่งที่ ‘เถ้าแก่’ มองข้าม

2229

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หากได้เรียนรู้กระบวนการคิดเพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าให้มีความทันสมัย น่าซื้อ น่าใช้ จากผู้ที่มีความรู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาเป็นผู้ถ่ายทอดองคความรู้จากทฤษฎีไปสู่ภาคการปฏิบัติจริง ซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และทำให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับเป็น “อุตสหกรรมสร้างสรรค์ของไทย” ที่มีคุณค่าและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อัศวิน โรจน์สง่า

 

อัศวิน โรจน์สง่า ผู้เชี่ยวชาญสาขาออกแบบตกแต่งร้าน Visal Merchandising อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนในการเข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าโอท็อปและการนำเสนอสินค้าจากภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านบางอย่าง ให้มีความโดดเด่นดึงดูดใจให้เกิดความอยากซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ เล่าว่า “ผมใช้ความรู้ในวิชาชีพเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการที่นำเสนอสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาทั้งเก่าและใหม่อยู่แล้ว เขามีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว เราเพียงแต่เข้าไปช่วยให้เขาคิดนอกกรอบ  ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะทำอะไรตามๆ กัน หรือทำตามแบบต่างชาติเพราะคิดว่าดี ขายได้ เป็นแพทเทิร์นเดียวกัน ไม่มีใครค่อยคิดถึงเรื่องการทำนอกกรอบหรือเห็นแล้วนำมาปรับใหม่ เราไม่ใช่คนไปกำหนดบังคับผู้ประกอบการว่าต้องทำแบบนั้นหรือทำแบบนี้ แต่เราจะดูสินค้าและช่วยวางแนวทางให้เขา ทำให้เขาคิดได้ว่าทำอะไรได้มากกว่านี้ เพื่อจะให้สินค้าของเขามีการตอบสนองจากกลุ่มผู้ใช้ได้มากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่ง เขามีพื้นฐานการออกแบบเพราะเรียนมาทางด้านนี้ เขาทำเครื่องประดับแบบไทยๆ รูปทรงลวดลายแบบไทยๆ นำองค์เทพพระพิฆเนศมาทำเป็นเข็มกลัดสวยมากๆ งานลักษณะแบบนี้ถ้านำมาจัดวางหรือพรีเซ็นต์เทชั่นให้ถูกต้องก็จะมีราคาโด่งดังไปทั่วโลก  ในทางกลับกันถ้าเราทำเครื่องประดับราคาถูก แต่จัดวางเหมือนร้านเพชร ลูกค้าอาจไม่กล้าเข้า เราต้องรู้ก่อนว่าโปรดักส์เราคืออะไร เราเป็นใคร เราจะขายใคร ของแพงก็ต้องทำให้แพง ของถูกก็ต้องทำให้รู้ว่าเราขายของถูก มันมีหลักการของการออกแบบมาช่วย สอนกันแบบทางลัด รู้เร็วเพราะผู้ประกอบการแต่ละคนก็มีพื้นฐานความรู้และความเข้าใจอยู่บ้างแล้ว

ล่าสุดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ผุดไอเดียแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ใน 4 สาขา ร่วมกับสถาบันพลาสติก บริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด, ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์, และ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดยคาดว่าจะสร้างความสำเร็จให้กับกลุ่มผู้ประกอบการได้อย่างเห็นผลจริง

ทั้งนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์และสาขาผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ โดยบริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิท สาขาออกแบบตกแต่งร้าน (Visual Merchandising) เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักออกแบบตกแต่งร้านอย่างมืออาชีพ โดยมีกลุ่มคณาจารย์จาก มศว เป็นพันธมิตร สาขาถัดมาคือ สาขาธุรกิจบริการไลฟ์สไตล์ โดยมีพันธมิตรคือศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC)

ผู้ประกอบการและนักออกแบบในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สามารถสมัครร่วมโครงการฯ ได้ที่ โทร.02-367-8289 / 02-367-8296 (กรมพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) หรือที่ศูนย์บริการวิชาการ มศว และเครือข่ายพันธมิตร