“ดิสรัปเตอร์” 6 สุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนรุ่นใหม่

1599

เยาวชน รร. ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ. เชียงราย มาวิน ซิว 3 รางวัลใหญ่ “วิกผมเทียมจากเส้นใยธรรมชาติ – สารสกัดธรรมชาติแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดด – นวัตกรรมเพิ่มเฉดสีปีกแมลงทับเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับไทย”

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง เผย 6 สุดยอดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีฝีมือคนไทย คว้าถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานประกวด “นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 10” เวทีแห่งเกียรติยศที่พร้อมชาเลนจ์ไอเดียเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในยุคดิสรัปชัน ประกอบด้วย “วัสดุก่อสร้างจากโฟมรีไซเคิล” ดัดแปลงปัญหาสู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม “วิกผมเทียมจากเส้นใยธรรมชาติ” วิกผมคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำถึง 10 เท่า “สารสกัดธรรมชาติแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดด” ซับน้ำตาชาวนาไทย “แม่เหล็กอัจฉริยะ” ดูดซับโลหะหนักในแหล่งน้ำเสีย “นวัตกรรมเพิ่มเฉดสีปีกแมลงทับเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับไทย” อีกขั้นของการยกระดับงานคราฟต์ไทย และ “ผงนาโนอัจฉริยะพิชิตลายนิ้วมือแฝง” ยอดนักสืบจิ๋วช่วยตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จากผลงานร่วมประกวดกว่า 150 ผลงาน ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำศักยภาพของเยาวชนไทย ที่พร้อมก้าวสู่การเป็น “ดิสรัปเตอร์” ผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และนาโนเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิภู ศรีสืบสาย คณบดี วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. เดินหน้าจัดงานประกวด “นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 10” เวทีแห่งเกียรติยศที่พร้อมท้าทายไอเดียความคิดของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ในยุคดิสรัปชัน (Disruption) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นวัตกรจิ๋วและคนรุ่นใหม่ ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และนาโนเทคโนโลยี สู่การตกตะกอนทางความคิด และก่อร่างสร้างนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและสังคม ตลอดจนมองเห็นโอกาสของการต่อยอดงานวิจัยที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบตั้งต้นทางความคิด และ วัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ ได้อย่างมีศักยภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิภู กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2562 นี้ มีนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีฝีมือเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป เป็นจำนวนกว่า 150 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ “ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” แบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล ครอบคลุม 6 หมวดนวัตกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเภทรางวัลระดับมัธยมศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น5 หมวดนวัตกรรม ดังต่อไปนี้

o    นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คือ “วัสดุก่อสร้างจากโฟมรีไซเคิล” ดัดแปลงปัญหาสู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี

o    นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ คือ “วิกผมเทียมจากเส้นใยธรรมชาติ” วิกผมคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำถึง10 เท่า จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

o    นวัตกรรมส่งเสริมด้านการเกษตร “สารสกัดธรรมชาติแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดด” ซับน้ำตาชาวนาไทย โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

o    นวัตกรรมเชิงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม แม่เหล็กอัจฉริยะดูดซับโลหะหนักในแหล่งน้ำเสีย จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

o    นวัตกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น “นวัตกรรมเพิ่มเฉดสีปีกแมลงทับเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับไทย” อีกขั้นของการยกระดับงานคราฟต์ไทย จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

ประเภทรางวัลระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไปโดยมีรายละเอียดดังนี้

o    นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี คือ “ผงนาโนอัจฉริยะพิชิตลายนิ้วมือแฝง” ยอดนักสืบจิ๋วช่วยตำรวจพิสูจน์หลักฐาน นวัตกรรมผงฝุ่นสี – เรืองแสง จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่ช่วยตรวจหาลายนิ้วมือได้ทุกสภาพพื้นผิว พร้อมหนุนภาครัฐลดนำเข้าสารเคมี จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพฯ

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการตอกย้ำศักยภาพของเยาวชนไทย ที่สามารถบูรณาการสิ่งต่างๆ สู่การรังสรรค์นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต-สังคมไทย และพร้อมก้าวสู่การเป็นหนึ่งใน “ดิสรัปเตอร์” (Disruptor) ที่มีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และกล้าเผชิญกับความท้าทายในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานของทักษะความรู้และความสามารถที่ได้รับการหล่อหลอมจากสถาบัน อันสอดคล้องกับนโยบายของ สจล. ที่ตั้งเป้าพัฒนาบัณฑิตคุณภาพ ควบคู่กับการหล่อหลอมจิตวิญญาณแห่ง สจล. “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” เพื่อป้อนบุคลากรคุณภาพให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่สามารถผลิตองค์ความรู้หรือนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประเทศไทยเสมอมา