“กรมชลประทาน” เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมเพชรบุรีตอนล่าง ผลักดัน “โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี” พัฒนา 3 คลองระบายน้ำในพื้นที่ D1, D9 และ D18 วางงบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาน้ำให้ความสำคัญประชาชนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม
นายเฉลิมเกียรติ์ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีระหว่าง 25-26 กรกฏาคม เพื่อติดตามความคืบหน้า“โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี”และร่วมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 4(ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ซึ่งมีนายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเป็นประธาน ว่า จากการที่จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อเกิดฝนตกหนักเกิน 230 ม.ม. ติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง จะเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรีซึ่งมีกำลังระบายน้ำได้เพียง 150 ลบ.ม./วินาที ทำให้ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำและที่ราบลุ่มตอนล่างแม่น้ำเพชรบุรีประสบอุทกภัย กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการเพื่อป้องกันอุทกภัยที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ฯป็นการสร้างแบบจำลองความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกด้าน ทุกมิติ เพื่อจัดทำแผนแก้ไขบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เขต อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.ชะอำ อ.เมืองเพชรบุรี อ.เขาย้อย และอ.บ้านแหลม ซึ่งตามแผนการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมของกรมชลประทาน โดยใช้รอบปีการเกิดซ้ำของน้ำหลากที่ 25 ปี ที่มีปริมาณน้ำหลากเท่ากับ 800 ลบ.ม./วินาที โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลตามลำน้ำหลักประกอบด้วย
1.ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลบ.ม./วินาที
2.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ระยะทาง 25 กม.ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลบ.ม./วินาที
3.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ระยะทาง 27.5 กม.ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างปรับปรุงเสร็จสิ้นลัได้มีส่วนการแก้ปัญปัญหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาแล้ว
4.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลบ.ม.วินาที
อย่างไรก็ดี การออกแบบเชิงหลักการคลองระบายน้ำ D1, D9 และ D18 เพื่อพัฒนาให้ทั้ง 3 คลอง มีขนาดที่กว่างและลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้การระบายน้ำทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
สำหรับการประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการเชิงหลักการคือ คลองระบายน้ำ D1 ประมาณ 12,434 ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำ ปีละประมาณ 9.0 ล้านบาท โดยมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คลองระบายน้ำ D1 ในระยะก่อสร้างที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 10 ประเด็น คือ ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรดิน สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน การคมนาคมขนส่งทางบก เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 1 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) คือ เศรษฐกิจ–สังคม
ในส่วนของคลองระบายน้ำ D9 ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 718 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านใต้ ปีละประมาณ 7.2 ล้านบาท และค่าขุดลอกรักษาพื้นที่จอดเรือปากคลองด้านเหนือ ปีละประมาณ 5.76 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 12.96 ล้านบาทต่อปี โดยส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างด้านท้ายของ คลอง D9 มีผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 7 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน และเศรษฐกิจ–สังคม ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ เศรษฐกิจ–สังคม และด้านสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว
ด้านคลองระบายน้ำ D18 ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 1,053 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านเหนือ ปีละประมาณ 20 ล้านบาท และค่าขุดลอกตะกอนตลอดแนวคลองปีละ 8.5 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 20.85 ล้านบาทต่อปี มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างมีบางส่วนที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 8 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเล แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน การคมนาคมขนส่งทางบก เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ การคมนาคมขนส่งทางน้ำ และเศรษฐกิจ–สังคม