จาก ‘แอสการ์เดีย’ ถึง ‘กองทัพอวกาศ’ เป้าหมายในหนึ่งเดียว

2473

แนวคิดการจัดตั้ง ‘กองทัพอวกาศ’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ฮือฮาอย่างมากภายใต้การบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเมื่อเดือนมิ.ย. 2018 ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐจัดตั้งเหล่าทัพที่ 6 ที่เรียกว่ากองทัพอวกาศเพื่อดูแลด้านอวกาศโดยเฉพาะ เป็นกองทัพอิสระมีสถานะเทียบเท่า 5 เหล่าทัพที่มีอยู่เดิมคือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองกำลังนาวิกโยธิน และกองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่ง

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ จัดแถลงข่าวความคืบหน้าว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าเรื่องการจัดตั้งกองทัพอวกาศ ภายในปี 2563 เพื่อบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ด้านการทหารของสหรัฐ และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามด้านอวกาศที่ถือเป็นแนวรบใหม่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเหล่าทัพใหม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสก่อน คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า  8,000 ล้านดอลลาร์ฯ

มองในด้านหนึ่งเรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่หากมมองอีกมุมเรื่องนี้กลับน่าสนใจต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติอย่างยิ่ง

หากยังจำกันได้ในปี 2016 ‘อิกอร์ อาชูร์เบย์ลี’ นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจชาวรัสเซีย ประกาศสถาปนา ‘แอสการ์เดีย’ เป็นประเทศใหม่ในห้วงอวกาศ และประกาศรับสมัครบุคคลเป็นพลเรือนของชาติอวกาศชาติแรกในประวัติศาสตร์ มีคนลงทะเบียนมากกว่า 2 แสนคน ไม่กำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เชื้อชาติหรือสัญชาติใดๆ โดยหลังปิดรับสมัครจะทำการคัดเลือกอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งอาจคัดเลือกกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ เช่นกลุ่มนักธุรกิจ และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อก่อตั้งประเทศในช่วงแรก

นายอิกอร์ให้เหตุผลว่าประเทศแอสการ์เดีย ก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาความสงบสุขภายในโลกมนุษย์ที่อาจได้รับอันตรายจากอวกาศ เช่น อุกกาบาตพุ่งชน หรือกระทั่งสงครามอวกาศและมนุษย์ต่างดาวในอนาคต โดยอิกอร์ยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า หากแผนทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย คณะผู้ก่อตั้งจะส่งพลเมืองชุดแรกขึ้นไปอาศัยในอวกาศภายในปี 2060

อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งประเทศใหม่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ยิ่งเป็นประเทศในห้วงอวกาศยิ่งเป็นเรื่องยาก แต่คณะผู้ก่อตั้งเชื่อมั่นว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆได้อย่างแน่นอน  โดยเฉพาะการยื่นเรื่องเสนอก่อตั้งประเทศกับสหประชาชาติ หรือ UN

เดือนมิถุนายน 2017 คณะผู้ก่อตั้งแถลงข่าวความคืบหน้าส่งดาวเทียมประเภทคิวป์แซทขึ้นสู่วงโคจร โดยดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปสู่วงโคจรนี้มีชื่อว่า Asgardia-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยยาน Cygnus ของนาซาที่เดินทางออกจากโลกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2017 เป็นดาวเทียมจิ๋วขนาด 10x10x20 ซม. หนักเพียง 2.8 กก. Asgardia-1 ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit) จาก ISS และอยู่ในวงโคจรราว 5 – 18 เดือน ก่อนที่จะลุกไหม้หมดไป

ทั้งสองเรื่องต่างมีจุดหมายเดียวกันคือการเจาะพื้นที่ใหม่ในอวกาศ!!!