ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ.…เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายคือ เสนอต่อสภาเพื่อพิจารณาและเห็นชอบ จากนั้นจะได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกเครื่อง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.
ขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินการ คือ
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงเป็นกรรมการ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.ให้ประสบความสำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
หลังจากบอร์ดใหญ่ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เห็นชอบดังกล่าว จากนี้ไปก็อยู่ที่ 2 หน่วยงานหลักที่จะต้องประสานงานและร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
หน่วยงานแรก ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นเจ้าของ ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้
หน่วยงานที่สอง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)
การขับเคลื่อนเพื่อให้มีกฎหมายฉบับใหม่มาแทนกฎหมายเดิมที่ล้าสมัย เพราะกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใช้มาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน 2565 เป็นเวลา 47 ปีแล้ว หมายความว่า ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ปฏิรูปกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัยเสียที
ที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปควรได้รับการคุ้มครองด้านเกษตรกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประโยชน์ต่อเกษตรกร ต่อชุมชนท้องถิ่น และประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา คมนาคม โลจิสติกส์ พลังงาน ฯลฯ
นี่คือหลักคิดและหลักการสำคัญ
การผลักดันร่างกฎหมายการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม สอดรับกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ยืนแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ข้อ 10.2 ระบุว่า
“ปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรและเกษตรกรที่ยากไร้ ตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ และมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน จัดทำหลักฐานการถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และเร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ทับซ้อน และแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจนระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ…..”
หากรัฐบาลเร่งรัดให้นโยบายนี้ปรากฎผลเป็นจริงก็มิใช่เป็นเรื่องยากเย็น นั่นคือเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก็เสนอร่างพ.ร.บ.ให้รัฐสภา(สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ วุฒิสภา) พิจารณาได้เลย
ผ่าน 3 วาระของรัฐสภาเมื่อใดก็เสร็จสิ้นตามกระบวนการตรากฎหมาย
ไม่ต้องเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎรก่อนให้ผ่าน 3 วาระแล้วค่อยเสนอต่อวุฒิสภาให้ผ่าน 3 วาระ ซึ่งใช้กับร่างกฎหมายปกติทั่วไปที่ไม่ใช่ร่างกฎหมายที่เป็นการปฏิรูป
ช่องทางลัดนี้ เข้าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ
เป็นร่างกฎหมายที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติเรื่องที่ดิน
ช่องทางลัดนี้จะย่นระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายให้เสร็จเร็วขึ้น
สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันก่อนรัฐบาลและสภาจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566
สัมฤทธิผลของการมีกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่น่าจะได้รับการชื่นชมจากทุกฝ่าย
และถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดินอีกหน้าหนึ่งของรัฐบาล “บิ๊กตู่”
โดย ทุ่งทะเล