คันฉ่องส่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ หลากธุรกิจรับอานิสงส์ออเจ้า

1923

เวลานี้ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นั้น ดังยิ่งกว่าพลุแตก  ตัวละครเอก ภาษาไทยโบราณ เป็นที่พูดถึงและนำมาใช้กันในวงกว้าง การตามรอยละครไปยังกรุงเก่า แล้วสวมชุดไทยเที่ยวชมวัด วัง โบราณสถาน บริเวณโดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการหลากหลายประเภท ไม่เฉพาะแค่โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านโรตี ของที่ระลึกท้องถิ่นเท่านั้น แต่กลุ่มธุรกิจหนังสือ ชุดไทย ทัวร์ท่องเที่ยว สมุนไพรไทย รวมไปถึงผู้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ปี 61 ในหลายพื้นที่ ก็น่าจะได้อานิสงส์กับกระแสฮอตฮิตนี้อยู่ไม่น้อย

เหตุที่ละครเรื่องนี้โด่งดัง เพราะมีหลายปัจจัยสนับสนุน บทประพันธ์ดี งานโปรดักชั่นเด่น พระนางเล่นโดน ฯลฯ ที่สำคัญคือการนำเสนอเรื่องราว ภาษาที่นำมาใช้ในยุคกรุงศรีฯเข้ากับยุคปัจจุบันได้อย่างร่วมสมัย แถมยังแทรกสาระความเป็นไทย ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และอาหารการกิน ไว้แทบทุกบทตอน

ประกอบกับ ช่วงเวลาที่ละครเริ่มออกอากาศเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้คนจากทั่วสารทิศที่เดินทางมาเที่ยวชมงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ยังคงอินอยู่กับบรรยากาศย้อนยุค เมื่อเจอละครพีเรียดแนวนี้เข้าไปอีก จึงโดนใจเข้าอย่างจัง เรียกได้ว่าละครปัง ส่วนหนึ่งก็เพราะมาแบบถูกจังหวะพอดิบพอดี

ที่ต้องให้เครดิตมากสุด คือ ผู้ประพันธ์ “จันทร์วีร์ สมปรีดา” หรือนามปากกา “รอมแพง” ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานมาพักใหญ่แล้ว โดยบุพเพสันนิวาสนั้น  ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด ในปี 2553 และยิ่งละครฟีเวอร์มากเท่าไหร่ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ก็จะขายดีเทน้ำเทท่า สะท้อนจากยอดพิมพ์ล่าสุด ครั้งที่ 73 เข้าให้แล้ว เฉลี่ยพิมพ์ 2,000-3,000 เล่ม/ครั้ง กับราคาขายราว 210-250 บาท ส่วนลดมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน เฉพาะเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือ โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ก็น่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 40-50 ล้านบาท

การรณรงค์ให้สวมใส่ชุดไทยเที่ยวชมงาน อุ่นไอรักฯ ที่ได้การขานรับจากประชาชนทุกกลุ่ม ยังคงต่อเนื่องมาถึงละครเรื่องนี้ ต่างสวมชุดไทย ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้าเชิงยาว หวีผมแสกกลางปีกนก ปิ่นปักผม สวมแหวน กำไล ห้อยสังวาล ผ้าขาวม้าเคียนเอว เดินถือร่ม ฯลฯ ตามแบบแม่หญิงกาละเกด และคุณพี่หมื่นสุนทรเทวา ตามรอยละครไปยังโบราณสถาน วัด วัง บ้านขุนนาง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันอย่างเนืองแน่น

ยังผลให้ทุกวันนี้ในพื้นที่อยุธยาหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบ วัดไชยวัฒนาราม วัดสำคัญตามท้องเรื่อง มีพ่อค้าแม่ขายนำชุดไทยมาให้เช่า บริการแก่นักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติ กันเป็นล่ำเป็นสัน สนนราคาค่าเช่าตั้งแต่ 200-400 บาท/ครั้ง (ประมาณ 2-3 ชั่วโมง)

ผู้คนจากทั่วประเทศที่หลั่งไหลไปเยือนโบราณสถานนับพันนับหมื่นคน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น ในจำนวนนี้มีทั้งที่เดินทางไปเองด้วยรถยนต์ส่วนตัว และก็มีไม่น้อยที่เลือกท่องเที่ยวไปกับบริษัททัวร์ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ก็จัดโปรแกรมทัวร์ลักษณะ ตามรอยละครดัง ไหว้พระขอพร นอนอยุธยา เยือนแผ่นดินพระนารายณ์ ฯลฯ สนองความต้องการอย่างทันท่วงทีเช่นกัน

สัมผัสได้จาก “หนุ่มสาวทัวร์” เสนอโปรแกรมทัวร์ “แต่งชุดไทย ตามรอย..แม่หญิงการะเกด” แบบ 1 วัน ไปเช้าเย็นกลับ มีชุดไทยให้สวมใส่ พาเที่ยวชมวัดไชยวัฒนาราม ป้อมเพชร วัดพุทไธศวรรย์ และปิดท้ายด้วยการไปชิมกุ้งเผาไซส์จัมโบ้ ในราคา 3,490 บาท/คน

“พาเที่ยวเลย” จัดโปรแกรมทัวร์ “ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส” แบบ 1 วัน ไฮไลท์สถานที่พาเที่ยวใกล้เคียงกัน ครอบคลุมวัดไชยวัฒนาราม พระราชวังโบราณ พระบรมราชานุสาวรีย์ ฯลฯ เช่นเดียวกับเมนูอาหาร แต่จะมีช่างภาพถ่ายรูปให้ด้วย กรณีนักท่องเที่ยวแต่งชุดไทย เที่ยวครั้งต่อไปจะได้รับส่วนลด 300 บาท โดยทริปนี้จัดไว้ที่ 899 บาท/คน

ไม่เท่านั้น ละครเรื่องเดียวกันนี้ยังถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน โดยเฉพาะการนำสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบหรือถนอมอาหาร แม้แต่การใช้เยียวยารักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น การดูแลช่องปากด้วยข่อยและเกลือ บำรุงผิวพรรณด้วยขมิ้นชัน หรือการบดไพรให้ละเอียด เพื่อนำมาเป็นยาสมานแผล เป็นต้น กุศโลบายที่แฝงไว้ในเรื่องนี้ ก็น่าจะช่วยคนไทยตระหนักและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาติด้านนี้ไว้ ทั้งยังจะส่งผลบวกต่อผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรไทยได้ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 คณะผู้จัดงานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด คงจะรณรงค์ให้สวมชุดไทย ผ้าลายดอก เสื้อม่อฮ่อม นุ่งผ้าซิ่น คาดผ้าขาวม้า สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีไทยอันดีงามกันอย่างหนักหน่วงแน่นอน เผลอๆธีมการจัดงาน ก็อาจจะล้อไปกับแม่หญิงการะเกดและคุณพี่หมื่นอีกก็เป็นได้

ยิ่งล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดสรรงบประมาณจาก กองทุนสื่อสร้างสรรค์ จำนวนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ ตามรอย ต่อยอด สร้างบุพเพสันนิวาส ภาค 2 เบื้องต้นกำหนดชื่อเรื่องไว้แล้วว่า “พรหมลิขิต” โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกสินค้าวัฒนธรรมด้านนี้ให้ระบือไกลในต่างแดน คล้ายกับโมเดลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้กับซีรี่ส์ยอดฮิต “แดจังกึม” ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาสัมผัสศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และอาหารการกิน แดนกิมจินั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เห็นทีว่ากระแสบุพเพสันนิวาส คงจะไม่วูบวาบ หวือหวา ชั่วครั้งชั่วคราวเสียแล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกหลายธุรกิจ คงสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก และน่าจะมองเห็นโอกาสที่เปิดกว้าง

เพลานี้จะมัวชักช้าอยู่ใยล่ะ ออเจ้า!

 

ที่มา : www.smemestyle.com