บทความ by ECONMAN
การประกันชีวิตกลายเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต หลายครั้งหลายคราที่เกิดเหตุไม่คาดฝันกับผู้คนมากมายในสังคม และกรมธรรม์ประกันชีวิตได้เข้าไปเยียวยา ผ่อนหนักให้เป็นเบา บรรเทาค่ารักษาพยาบาล หรือกลายเป็นที่พึ่งพาให้กับคนข้างหลัง
รูปแบบการทำประกันชีวิตทุกวันนี้ก็มีให้เลือกหลากหลาย จ่ายมาก จ่ายน้อย ได้ตามกำลัง บางครั้งเมื่อผู้ทำประกันเกิดความขัดสน กรมธรรม์บางประเภทก็เปิดช่องให้สามารถนำเงินที่ส่งไปแล้วนั้นมาแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้อีกด้วย
ยิ่งในยุคปัจจุบันไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 กลายเป็นกรรมธรรม์ยอดฮิตที่คนแห่ซื้อมากกว่า 11 ล้านฉบับภายในเวลาไม่กี่เดือน แสดงให้เห็นถึงการยอมรับของประชาชนต่อระบบประกันภัยได้เป็นอย่างดี จากในอดีตที่คนขายประกันต้องวิ่งไปหาลูกค้าเพื่อเสนอขายกรมธรรม์ประเภทต่างๆ กลายเป็นว่าทุกวันนี้ลูกค้ามาถามว่ามีประกันประเภทไหนขายบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ การประกันชีวิตนอกจากจะมีบริษัทประกันชีวิตคุ้มครองความเสี่ยงให้กับเราแล้ว ยังมี “กองทุนประกันชีวิต” ซึ่งเป็นนิติบุคคลมาช่วยดูแลเงินกรมธรรม์ให้เราอีกชั้นหนึ่งด้วย โดยเฉพาะการดูแลเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
หลายคนอาจจะงงๆว่า เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคืออะไร
“เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ” คือเงินที่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ แต่มิได้มีการเรียกร้องจากบริษัทจนล่วงพ้นอายุความ ซึ่งอายุความดังกล่าวคือ 10 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับเงิน โดยเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิต ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันชีวิต (มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535) และผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ หรือทายาท สามารถขอรับเงินดังกล่าวคืนจากกองทุนได้อีกภายในเวลา 10 ปี
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ มีด้วยกัน 4 สาเหตุคือ
1. บริษัทประกันไม่สามารถติดต่อผู้เอาประกันชีวิตบางรายได้ เนื่องจากสาเหตุ เช่น ย้ายที่อยู่แล้วมิได้แจ้งให้บริษัทประกันทราบ
2. ผู้เอาประกันชีวิตบางราย เสียชีวิตโดยมิเคยแจ้งให้ทายาท หรือผู้รับประโยชน์ทราบว่าตนได้ทำประกันชีวิตไว้ ทำให้ผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกัน มิได้เรียกร้องเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์
3. ผู้เอาประกันชีวิตบางรายไม่ส่งเบี้ยประกันต่อทำให้กรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง แต่ไม่ทราบว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเหลืออยู่
4. ผู้เอาประกัน ได้รับเช็คจากบริษัทแล้ว แต่มิได้นำเช็คไปขึ้นเงินจนลืม
ปัจจุบันมีเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความที่บริษัทประกันชีวิตจำนวน 22 บริษัท นำส่งเข้ามายังกองทุนประกันชีวิต จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ทั้งหมด 1,397,716,563 บาท จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 1,003,750 ราย โดยจ่ายเงินคืนผู้มีสิทธิจำนวน 3,268 ราย ไปแล้ว 23,855,973 บาท
เท่ากับว่ายังมีเงินค้างเหลืออยู่ในกองทุนประกันชีวิตอีก 1,373,860,590 บาท จากจำนวนผู้มีสิทธิที่ยังไม่มารับ 1,000,482 ราย
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กองทุนประกันชีวิต ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ไปยังประชาชนทุกภาคส่วนที่อาจจะเป็นเจ้าของเงินจำนวนนี้ ผ่าน 3 แนวทางที่กองทุนฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ
1. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันชีวิต และบทบาทหน้าที่กองทุนฯ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ ผ่านทุกช่องทางได้แก่ สื่อสารออนไลน์ ผ่าน Website, YouTube, Facebook, Line Official Account สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์
2. ดำเนินการพัฒนาโปรแกรมเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนประกันชีวิต www.lifeif.or.th
3. บูรณาการกับกรมการปกครอง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบที่อยู่ปัจจุบันของผู้เอาประกันชีวิต ตามข้อมูลผู้มีสิทธิในเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความของกองทุน เพื่อใช้แจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันชีวิตรับทราบอีกด้วย
ซึ่งก็ถือว่าได้ผลน่าพอใจ เพราะสามารถนำเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคืนผู้มีสิทธิตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2563 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 347.23
กล่าวคือ ปี 2561 จ่ายคืน 2,164,246.37 บาท จำนวน 290 ราย ปี 2562 จ่ายคืน 4,621,406.91 บาท จำนวน 661 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 127.93 และปี 2563 จ่ายคืน 8,408,067.92 บาท จำนวน 1,297 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 347.24 โดยคิดจากฐานปี 2561
สำหรับใครที่เคยทำประกันชีวิตเอาไว้ หรือ เป็นผู้มีสิทธิรับประโยชน์โดยชอบธรรม และคิดว่าอาจเป็นหนึ่งในเจ้าของเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความดังกล่าว สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ www.lifeif.or.th หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Facebook กองทุนประกันชีวิต Fanpage หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-1333 ต่อ 51
เรื่องราวดีๆแบบนี้ ถ้าจะกรุณาแชร์ต่อกันมากๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว