‘คลองเตยดีดี’ สร้างรอยยิ้ม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

1232

เมืองไทยประกันภัย ผสานความร่วมมือกับชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่คลองเตย ร่วมวางแผนงานพัฒนาพื้นที่ ภายใต้แนวคิด ‘คลองเตยดีดี’ เพื่อสร้างรอยยิ้ม เสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และมุ่งสู่เป้าหมายในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟ.ซี. เปิดเผยถึงโครงการ “คลองเตยดีดี” ว่า เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่คลองเตย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ตนเองและเมืองไทยประกันภัย ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักและเป็นผู้ดูแลสโมสรการท่าเรือ เอฟ.ซี. ที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนคลองเตย เสมือนเป็นศูนย์รวมหนึ่งของคนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย และใกล้เคียง

“การที่ เมืองไทยประกันภัย ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักทีมฟุตบอลการท่าเรือ เอฟ.ซี. ทำให้แป้งและทีมงานเมืองไทยประกันภัย ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคนในชุมชนคลองเตย ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสนับสนุนกิจกรรมด้านการกีฬา การได้ลงมือทำงานจริงในพื้นที่ ทำให้ได้เห็นภาพชุมชนคลองเตยในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ด้านกายภาพ และสังคม ภาพที่ทุกคนมองเข้ามา ชุมชนคลองเตยในความรู้สึกอาจเป็นแบบหนึ่ง แต่ในฐานะของคนที่ได้สัมผัสกับชุมชนจริงๆ ทำให้รับรู้ว่าชุมชนคลองเตยมีเรื่องราวดีๆ มากมาย เมืองไทยประกันภัย จึงอยากร่วมเป็นส่วนส่งเสริมและสนับสนุน ให้สิ่งดีๆ นั้น ยังคงอยู่ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” คุณนวลพรรณ กล่าว

ทั้งนี้ “คลองเตยดีดี” เกิดขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มนับหนึ่งจากการผนึกกำลังของคนในชุมชน ดังนั้น บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงเริ่มต้นจุดประกายการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีกลุ่มคนและหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันนำเสนอแนวทางเพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ในแบบที่ชุมชนต้องการที่สำคัญ การที่เมืองไทยประกันภัยได้ผสานความร่วมมือกับ Harvard Graduate School of Design ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก ในการเข้ามาสำรวจ และวิจัย ชุมชนคลองเตย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมแห่งความสุขและความเท่าเทียม

ที่ผ่านมา เมืองไทยประกันภัย ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเด็กและเยาวชน กีฬา สิ่งแวดล้อม งานอาสาพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 บริษัทฯ ได้วางนโยบายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมไว้ 2 ด้าน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่บริษัทฯได้รับเสียงสะท้อนมาจากชุมชนคือ ด้านกายภาพ ได้แก่ ปัญหาขยะ โดยเมืองไทยประกันภัยมีโครงการเมืองไทยไร้ขยะ ที่ตั้งใจขับเคลื่อนเพื่อลดขยะในชุมชนทั่วประเทศ จึงจะยึดแนวคิดนี้เป็นแผนนำร่องในการแก้ไขปัญหาที่คลองเตย ในการเพิ่มมูลค่าให้ขยะ ให้ชุมชนมีความรู้ด้านการแยกขยะและรีไซเคิลมากขึ้น พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาโครงการธนาคารขยะร่วมกับชุมชนคลองเตยที่ได้ริเริ่มทำอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้เป็นร้านค้ารับแลกขยะรีไซเคิลกับสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

อีกปัญหาคือ อัคคีภัย ที่ผ่านมาพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีสถิติการเกิดอัคคีภัยหลายครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของคนในชุมชน เมืองไทยประกันภัยจึงวางแผนใน 2 มิติ ตั้งแต่ต้นเหตุ ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการส่งนักศึกษาเข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยของระบบเดินไฟของแต่ละบ้าน รวมถึงการออกแบบแผนรับมือกับเหตุไฟไหม้ โดยการจำกัดเส้นทางของเพลิงให้อยู่ในวงจำกัด และหาบริษัทพันธมิตรในการนำวัตกรรมการดับเพลิงแบบหมอกน้ำ ซึ่งเป็นการดับเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้

สำหรับปัญหาด้านสังคม ที่บริษัทฯอยากต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุน คือ การสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง เพราะถึงแม้คลองเตยจะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อห่วงใยไม่ต่างไปจากชุมชนอื่นๆบนโลกใบนี้ ที่มีคนมาอยู่รวมกันมากๆ นอกจากต้องการโอกาสด้านอาชีพ รายได้ ความปลอดภัยในชีวิต ที่นี่ยังต้องการความช่วยเหลือในการดูแลคุณภาพชีวิต เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือการท้องโดยไม่ได้วางแผน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้มากในระดับต้นต้นของประเทศสำหรับกลุ่มปัญหาเด็กและเยาวชน เมืองไทยประกันภัยจึงวางแผนประสานกับหน่วยงานภายนอกในการเข้าไปให้ความรู้ และหารูปแบบการแก้ปัญหาที่มีความยั่งยืน เพราะหากได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นจุดเปลี่ยนของปัญหาสังคมในอนาคตได้ ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2542 ศ.ดร.เจมส์ เจ เอคแมน (James J . Heckman) ระบุไว้ว่า การลงทุนกับเด็กจะคืนผลตอบแทนแก่ประเทศสูงถึง 7 เท่าในอนาคต