ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล – University of London สหราชอาณาจักร คิดค้นและพัฒนา “LangArchive-TH” คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายและสามารถบรรจุข้อมูลเพิ่มได้เอง
วันที่ 16 พฤศจิกายน ของทุกปี UNESCO ได้จัดตั้งเป็น “วันพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก” โดย Michael E. Krauss นักภาษาศาสตร์โลกชาวอเมริกัน (ค.ศ.1934 – 2019) ได้คาดคะเนเอาไว้ว่า จากภาษาทั่วโลกมีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันประมาณ 6,000 ภาษา จะมีถึงร้อยละ90 ที่ต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤต หรือ สูญสิ้นได้ หากไม่ใส่ใจส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานภายในศตวรรษนี้ ในจำนวนนี้รวมถึง “กลุ่มชาติพันธุ์” ในประเทศไทยด้วย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 70 กลุ่มที่ยังขาดการสืบทอดอนุรักษ์กันอย่างจริงจัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและการคลัง ในฐานะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในขณะที่ภาษาสากลซึ่งเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกยังคงเป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด และภาษาจีนซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่าภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กำลังจะจมหายไปกับยุคสมัย เนื่องจากขาดการตระหนักในความสำคัญของการสืบทอดสู่รุ่นลูกหลาน มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งตนได้อยู่ในทีมตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยได้ทุ่มเทเวลากว่า 2 ทศวรรษมุ่งชุบชีวิตภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ฟื้นคืนมา เพื่อมอบเป็นมรดกสู่รุ่นลูกหลาน โดยได้ระดมคณาจารย์นักวิจัย และนักศึกษาของสถาบันฯ ลงพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศไทย เก็บข้อมูลในรูปแบบแอนะล็อก(analog) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย
มาถึงปัจจุบันเพื่อให้สามารถก้าวทันโลกยุคใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร จึงได้ร่วมกับEndangered Languages Archive (ELAR), SOAS University of London ด้วยทุนสนับสนุนจาก Newton Fund สหราชอาณาจักร และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) นำข้อมูลแอนะล็อก (analog) ที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชนเก็บไว้จากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่สมัยที่ร่วมทีมวิจัยกับอดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นข้อมูลดิจิทัล(digital) ภายใต้ชื่อนวัตกรรม “LangArchive-TH” ซึ่งเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ และรวบรวมข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
“LangArchive-TH” เป็นคลังข้อมูลดิจิทัลที่ครบครันด้วยสื่อซึ่งสามารถเข้าชมได้ในรูปแบบวีดีโอ เอกสาร ไฟล์เสียง และรูปภาพ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร เป็นหัวหน้าโครงการฯ และร่วมกับทีมวิจัยถ่ายทอดความรู้สู่นักวิชาการในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในเบื้องต้นประกอบด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่รวบรวมไว้สำหรับการสืบค้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาไว้มากถึง18 กลุ่ม โดยผู้เข้าชมจะได้เต็มอิ่มกับความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมจากประสบการณ์ตรงของชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่หาดูได้ยาก และมากด้วยคุณค่า ในรูปแบบของเรื่องเล่า นิทานเพลง การละเล่น รวมทั้งได้มีการแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นประเพณี พิธีกรรม สมุนไพรพื้นบ้านน่ารู้ รวมทั้งคำศัพท์ และระบบเขียนภาษาท้องถิ่นอักษรไทยของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการต่อยอดศึกษาวิจัยทางด้านภาษาและวัฒนธรรมต่อไป
ซึ่งจากการบอกเล่าของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ได้แสดงถึงมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษไว้ได้อย่างน่าติดตาม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณเตือนไม่ให้ลูกหลานทอดทิ้ง “ขุมทรัพย์อันล้ำค่า” ทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งกำลังจะสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย ตัวอย่างจากการนำเสนอนิทานเรื่อง “พระขันทองกับนางเกสร” ซึ่งเป็นนิทานของชาว “ชอุง” ที่ผู้บอกเล่าฟังมาจากพ่อแม่สมัยเด็ก สมัยที่พ่อแม่เล่าให้ฟังจะมีเสียงเอื้อน แต่ปัจจุบันผู้บอกเล่าไม่สามารถเอื้อนได้ เป็นต้น
จากผลงานนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลแก่การสืบทอดมรดกทางภาษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือน “มรดกของโลก” ที่เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล และตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDGs4 ซึ่งว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) และ SDGs10 ซึ่งว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) นี้ส่งผลให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร สามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีสาขาสังคมวิทยา ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯไปได้อย่างภาคภูมิ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วย platform ของนวัตกรรม “LangArchive-TH” ที่ได้ริเริ่มขึ้นนี้ มั่นใจว่าจะสามารถใช้รองรับสู่การพัฒนาเป็น “Big Data” หรือคลังข้อมูลขนาดใหญ่ทางภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่ครอบคลุมให้ได้มากที่สุดต่อไปในอนาคต ติดตามได้ทางhttps://langarchive-th.org/
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล