คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านการประกันภัย กรณีบ้านอาคาร 3 ชั้น เกิดเพลิงไหม้และถล่มที่เขตทวีวัฒนา เผยระบบประกันภัย พร้อมเยียวยาฮีโร่ดับเพลิง ผู้เสียสละ และผู้เสียชีวิต กว่า 2.5 ล้านบาท
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเลขที่ 138/12 หมู่บ้านกฤษดานคร 31 ซอยรัศมี 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 เป็นเหตุให้บ้านลักษณะอาคาร 3 ชั้น เกิดพังถล่มได้รับความเสียหายทั้งหลัง และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นเป็นอาสาสมัครของสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าช่วยเหลือดับเพลิง 4 ราย ได้แก่ 1. นายธนภพ ประไพ อายุ 44 ปี 2. นายสมัญญา นิลธง อายุ 48 ปี 3. นายอรรถพล ท้วมทอง อายุ 26 ปี และ 4. นายสุทัศน์ เปลี่ยนกลัด อายุ 38 ปี อีก 1 ราย คือ นายเกียรติ แพ้ตเตอร์สัน อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นเลขานุการเจ้าของบ้าน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ได้แก่ 1. นายอิทธิพล ประสงค์ทรัพย์ 2. นายรัฐกรณ์ พุขุนทด 3. นายสุรศักดิ์ เปลี่ยนกลัด 4. นายอนุชา นิลแนบแก้ว 5. นายธีพล ทองศิริ 6. นายทฤษฎี สังข์นาง 7. นางสาวจิรภัทร นนทฤทธิ์ และ 8. นางสาวฐิติรักษ์ ทับเทา โดยเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของบ้านหลังดังกล่าว รวมทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่าบ้านหลังดังกล่าวได้ทำประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย ไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ FA050127-21RBK เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 29 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 29 มีนาคม 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 7,920,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เฉพาะสิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยได้เข้าสำรวจภัยเพื่อตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินแล้ว และพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนทันที หากหลักฐานครบถ้วน ในส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย พบว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ได้ทำประกันภัยประเภทต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
1. นายสมัญญา นิลธง ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ P31559955-2 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 26 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 26 มิถุนายน 2564 โดยคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 625,000 บาท และประกันชีวิต แบบ เอไอเอ สะสมทรัพย์ 25/15 พิเศษ (มีเงินปันผล) ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ T208878704 เริ่มสัญญาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ครบสัญญาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2585 จำนวนเงินเอาประกันภัย 204,048.60 บาท และสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท
2. นายอรรถพล ท้วมทอง ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ P10337228-2 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 375,000 บาท
3. นายสุทัศน์ เปลี่ยนกลัด ได้ทำประกันชีวิต คุ้มครองโควิด-19 ไว้กับบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 630013734 เริ่มสัญญาวันที่ 20 มีนาคม 2563 ครบสัญญาวันที่ 20 มีนาคม 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิตทุกกรณี 10,000 บาท ทั้งนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย คงเหลือจำนวนเงินเอาประกันภัย 9,550 บาท
4. นายเกียรติ แพ้ตเตอร์สัน ได้ทำประกันชีวิต แบบ เอไอเอ ตลอดชีพ ชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ T300117075 เริ่มสัญญาวันที่ 2 ธันวาคม 2559 สิ้นสุดวันที่ 2 ธันวาคม 2576 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ (เอ.ดี.ดี) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท
5. นายสุรศักดิ์ เปลี่ยนกลัด (ผู้บาดเจ็บ) ได้ทำประกันชีวิต แบบ เอไอเอ ตลอดชีพ ชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี (ไม่มีเงินปันผล) ไว้กับบริษัท เอไอเอ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ T218150849 เริ่มสัญญาวันที่ 24 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดวันที่ 24 ธันวาคม 2631 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ เอไอเอ เอช แอนด์ เอส พลัส โกลด์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท โดยการพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท และเงินชดเชยรายได้การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 3,000 บาท ไม่เกิน 365 วัน
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งได้ทำประกันภัยไว้ทั้ง 4 ราย ได้สั่งการให้ประสานบริษัทประกันภัยดังกล่าว เร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็ว ในเบื้องต้นจากกรณีเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวของฮีโร่ดับเพลิง ผู้เสียสละชีวิต และเลขานุการเจ้าของบ้าน ผู้เสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยาจากระบบประกันภัย รวมทั้งสิ้น 2,513,598.60 บาท จากการประกันภัยอุบัติเหตุ 2,000,000 บาท และการประกันชีวิต 513,598.60 บาท อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับประชาชน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปดูแลและช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้ จนทำให้ตนเองเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละเป็นอย่างมาก และขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและทีมงานอาสาสมัครทุกท่าน สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะดูแล ด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และกับทุกคน จึงฝากความห่วงใยมายังประชาชน ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการทำประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย การประกันชีวิตและประกันภัยอุบัติเหตุ รวมถึงการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย