คปภ. คว้ารางวัล DG Awards 2021

474

สำนักงาน คปภ. ก้าวสู่ผู้นำการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ คว้ารางวัลในงานรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2564  “DG Awards 2021” ประเภท “รางวัลพัฒนาการดีเด่นหน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย กำกับ ดูแล ประสานงาน หรืออื่น ๆ เป็นหลัก” ด้วยคะแนนรวมสูง 81.58%

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 3 ธันวาคม 2564) นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลระดับกรม “รางวัลพัฒนาการดีเด่นหน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย กำกับ ดูแล ประสานงาน หรืออื่น ๆ เป็นหลัก” ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ภายในงานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2564 “Digital Government Awards 2021” ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี ซึ่งเป็นรางวัลที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ (สพร.) พิจารณามอบให้กับส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ผลคะแนนจากโครงการสำรวจระดับ    ความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ต่อไป โดยการมอบรางวัลในครั้งนี้ จัดโดย สพร. เป็นการมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระดับสูง และมีผลงานดีเด่นด้านการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2564 สพร. ได้ดำเนินการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,922 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค      และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ครอบคลุม 76 จังหวัด โดยได้มีการประกาศผลและมอบรางวัล แก่หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 33 รางวัล ได้แก่ รางวัลพัฒนาการดีเด่น จำนวน 5 รางวัล โดย “สำนักงาน คปภ.” ได้รับรางวัลพัฒนาการดีเด่น อันดับ 1 หน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย กำกับ ดูแล ประสานงาน หรืออื่น ๆ เป็นหลัก คะแนนรวมจัดอยู่ในกลุ่ม Very High โดยมีคะแนนระดับความพร้อมรวมสูงสุด 81.58% และมีคะแนนระดับความพร้อมในการพัฒนาด้านดิจิทัลอยู่ในกลุ่ม Very High            ด้วยเช่นกัน ซึ่งวัดจากระดับความพร้อมการพัฒนาด้านดิจิทัลรายตัวชี้วัด (Pillar) 6 ตัวชี้วัด สำหรับตัวชี้วัดที่โดดเด่นที่สุดของสำนักงาน คปภ. คือ Pillar 5 : วัดผลด้านโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Secure and Efficient Infrastructure) โดยได้คะแนนสูงถึง 98.33% ลำดับถัดมาคือ Pillar 4 : วัดผลด้านการบริหารจัดการรูปแบบดิจิทัล (Smart Back Office) จึงเป็นการการันตีถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่นของสำนักงาน คปภ. ในการยกระดับการให้บริการด้านการกำกับดูแล เพื่ออำนวยความสะดวก           แก่ประชาชน ผ่านระบบดิจิทัล พร้อมผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีหรือทำธุรกรรมผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สมัย เช่น CMIDLT, CMIRVP และ 3REGCom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการหน่วยงานอื่นมาเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน โครงการ OIC Gateway การให้บริการขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความ อัตราเบี้่ยประกันภัยให้กับภาคธุรกิจ (I-SERFF) และโครงการพัฒนาระบบคนกลางประกันภัย       (คนกลาง ForSure) เป็นต้น รวมทั้ง มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้บริหาร ผ่านการลงนามความร่วมมือ (MOU) อาทิ         การเชื่อมโยงข้อมูลการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim System) กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาล   การพัฒนาระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล     ผ่านระบบตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ พ.ร.บ. กับกรมการขนส่งทางบก บริการตรวจสอบข้อมูลประวัติ                   การทำประกันภัย พ.ร.บ. กับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด นอกจากนี้ ได้มีการนำ Big Data เข้ามาช่วยอำนวย     ความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการปฏิบัติงานไปสู่รัฐบาลดิจิทัล         ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความจำเป็นของเทคโนโลยีดิจิทัลมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สำนักงาน คปภ. ที่มีหน้าที่ในการให้บริการประชาชนต้องเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น   ซึ่งการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลกระดาษ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเบ็ดเสร็จและไร้รอยต่อ ซึ่งในอนาคตจะผลักดันยกระดับการให้บริการเป็นแบบดิจิทัล 100% นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กรด้านทักษะดิจิทัลทั้งในด้านการประกันภัยและด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการยกระดับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริการประชาชน เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการประกันภัยในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“รางวัลที่สำนักงาน คปภ. ได้รับในครั้งนี้ แสดงถึงความสำเร็จในระดับหน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ มีระบบการบริหารงานและการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่เป็นกำลังสำคัญทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ โดยสำนักงาน คปภ. จะมุ่งมั่นทำงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการงานอย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาพัฒนามาตรฐานการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเตรียมแผนฟื้นฟูภัยพิบัติ (Disaster Recovery Plan : DR plan) และการจัดทำแผนจัดการเหตุการณ์ผิดปกติ (Incident Management Process) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยและสังคมต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย