คนดีศรีอาชีวะ..ประภัส ไชยเยศ ชีวิตที่คิดต่าง

1899

พ่อแม่แต่ละรุ่นมักสอนลูกว่า “เรียนให้เก่ง ๆ นะลูก โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” เชื่อกันมาเป็นร้อยปีและถ่ายทอดกันเป็นมรดกมานานพอ ๆ กัน และด้วยความเชื่อแบบนี้  เราจึงมี “เจ้าคนนายคน”เกลื่อนระบบบริการ โดยเฉพาะบริการของภาครัฐ

แล้วพอมีคนที่คิดแปลก คิดแยกไปจากคนอื่น โบราณก็จะว่าเขาคนนั้นเป็น “คนนอกคอก”เป็น “คนแหกคอก”

แต่ก็แปลกนะ“คนแหกคอก”ที่คิดดี ๆ ไม่เหมือนกับคนอื่นมักประสบความสำเร็จ

ประภัส  ไชยเยศ หรือ เนม หนุ่มใหญ่วัย 26 ปีเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดแตกต่างกับชาวบ้าน  เขาเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด  ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเหล่าหมากคำ  ต.นาภู  อ.ยางสีสุราช  จ.มหาสารคาม  เข้าเรียนเกษตรด้วยการแนะนำของ อภิมุข  ศุภวิบูลย์  อดีตรองผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ที่ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม

เลือกเรียนอาชีวะเพื่อเป็นเกษตรกรที่ดี

ครอบครัวของเนมมีฐานะปานกลาง  พ่อเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  แม่เป็นเกษตรกร  แม้พ่อแม่จะมีกำลังทรัพย์พอจะเรียนสายสามัญจนจบมหาวิทยาลัยได้ แต่ด้วยคำแนะนำของอภิมุขที่ว่า การเรียนอาชีวะเกษตรจะทำให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี ทำให้เขาตัดสินใจเข้าเรียนเกษตรอาชีวะ ด้วยความหวังแน่วแน่ว่าเมื่อจบออกไปจะไปเป็นเกษตรกรที่ดี  โดยเลือกเรียนในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ จนจบ ปวส.แล้วไปต่อปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  วิทยาเขตกาฬสินธุ์

นำสิ่งที่คนอื่นรังเกียจมาต่อยอด 

เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแรกเริ่มเขาตั้งใจว่าจะประกอบอาชีพการเกษตร  แต่ทางครอบครัวต้องการให้ทำงานราชการหรือทำงานเอกชน  เขาจึงไปสมัครเป็นลูกจ้างของกรมปศุสัตว์ ทำงานอยู่ที่สำนักงานปศุสัตว์ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เขาคิดทุกวันว่าที่บ้านมีที่ดิน ทำไมตัวเองต้องมาเป็นลูกจ้าง  ความรู้ต่างๆ ที่เรียนมา รวมทั้งการได้รับการฝึกเรื่องความขยัน  อดทน ก็มีพร้อม เย็นวันหนึ่งเนมเดินไปที่แปลงมันสำปะหลังของแม่ เขาคิดว่าการปลูกมันสำปะหลังมีรายได้ปีละครั้งเดียว น่าจะทำอะไรที่มันมีรายได้มากกว่านี้ ระหว่างที่เดินในไร่มัน เขาก็ได้กลิ่นขี้หมูโชยจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกัน แค่ได้กลิ่นเขาก็ปิ๊งไอเดีย หมายมั่นว่าจะเอาไอ้ขี้หมูที่คนอื่นรังเกียจว่าเหม็นมาใช้ประโยชน์ให้ได้

คิดต่าง..เสริฟความเหมือน

ด้วยความที่ทำงานเป็นปศุสัตว์ ทำให้เนมได้เห็นคนในชุมชนบ้านเหล่าหมากคำและหมู่บ้าน

ใกล้เคียงในตำบลนาภู เกือบทุกครอบครัวเลี้ยง โค กระบือ บ้านละ  3  ตัวขึ้นไป  แต่ทุกครอบครัวกลับไม่มีแปลงปลูกหญ้าอาหารสัตว์เลย ต้องไปตัดเอาจากทุ่ง เขาจึงขอแบ่งแปลงมันของแม่มา 2 ไร่ เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง แล้วเอาความรู้เรื่องระบบชลประทานและการให้น้ำที่เคยเรียนมาใช้ ด้วยความที่พื้นที่ของเขาลาดเอียง เขาจึงขุดร่องแล้วดึงน้ำจากฟาร์มหมูเข้ามาเอ่อล้นแปลงหญ้า ผลที่ได้นอกจากจะช่วยให้หญ้างามแล้วยังช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นที่ชุมชนรังเกียจไปพร้อมกัน หลังเลิกงานเขาก็มาขายหญ้า โดยใช้การตลาดนำหน้า เอาหลักวิชาที่เรียนเที่ยวแนะนำชาวบ้านให้หันมาใช้หญ้าเนเปียร์ปากช่องเลี้ยงวัวควาย บอกด้วยว่าหญ้าที่เหมาะกับการเลี้ยงจะต้องมีอายุระว่าง 45-60วัน ทำให้ชาวบ้านเริ่มสนใจ ทุกเย็นก็จะมาซื้อหญ้า ราคาที่ขายนั้นถ้าคนซื้อตัดเองก็กิโลละ 1 บาท   แต่ถ้าตัดให้กิโลละ 1.50  บาท  ถ้าตัดและสับให้ด้วยกิโลละ 2  บาท

เมื่อหญ้าขายดีเขาก็ขยายพื้นที่ปลูกเป็น  20  ไร่ ทำให้เขามีรายได้วันละ 500 บาท ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันเขามีแปลงหญ้า  80  ไร่  มีรายได้จากการขายหญ้าเดือนละประมาณ 60,000 บาท

เนม มีแนวคิดเรื่องการตลาดหญ้า  โดยแบ่งลูกค้าเป็นกลุ่มๆ  ถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงโค กระบือ พวกนี้ต้องการหญ้าวันละ 1-1.5 ตัน  ลูกค้าจากปางช้างต้องการหญ้าเนเปียร์ปากช่องอายุ 70 วันขึ้นไป สัปดาห์ละ  10  ตัน ขายได้ตันละ 700  บาทโดยลูกค้าต้องตัดเอง  และลูกค้าจากส่วนราชการที่มาซื้อแจกเกษตรกร

เนมรู้ว่าการปลูกหญ้านั้นอีกไม่นานจะต้องมีคู่แข่งแน่นอน แต่เขาก็คิดวิธีแก้ไว้แล้ว แต่เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ทางการค้าจึงยังไม่ขอเปิดเผย

ถ่ายทอดความรู้คืนสู่แผ่นดิน

เมื่อครูอภิมุขมีบุญคุณกับเขา เนมก็ทดแทนบุญคุณครูด้วยการรับคำเชิญมาเป็นครูสอนอาชีพการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ให้กับนักศึกษาในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ท่านรองฯอภิมุขต้องการให้ลูกศิษย์ อศ.กช.ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ของเนม ได้เห็นความสำเร็จของหนุ่มใหญ่คนนี้ที่เกิดจากการ “คิดไม่เหมือนใคร”เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นกับคนรุ่นเก่าที่หัวทันสมัย โดยท่านหวังว่า รุ่นใหญ่จะมีไอเดียใหม่ ๆ มาปะทะกับรุ่นเด็ก ซึ่งจะกลายเป็นผลดีต่อกิจกรรมเกษตรไทยในอนาคต

ขอยกย่องให้ ประภัส  ไชยเยศ เป็นหนึ่งใน “คนดีศรีอาชีวะ”  พร้อมกันนี้ก็ขอยกย่อง อภิมุข  ศุภวิบูลย์ ว่าเป็นหนึ่งใน “ครูดีศรีแผ่นดิน”