คนกทม.รายได้หดหายหนี้ท่วมหัว ร้องรัฐลดดอกเบี้ย-แก้ค่าครองชีพ

592

               สำรวจกระเป๋าคนกทม.ช่วงโควิด-19ระบาดหนัก พบส่วนใหญ่รายได้หดหายเงินออมไม่เหลือใช้แถมหนี้สินรุงรังทั้งผ่อนบ้าน-รถ-บัตรเครดิต เสนอรัฐเร่งลดค่าครองชีพ ลดดอกเบี้ย ช่วยปรับสภาพหนี้

              นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ 90.5 ของจีดีพี ณ ไตรมาสแรกของปี 2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอก 3-4 ที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงไตรมาส 4 ของปี 2564 มีการคาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง ร้อยละ 93.0 ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2564

      สาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการขาดสภาพคล่องในภาคครัวเรือนที่รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ด้วยเหตุที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติในช่วงที่รัฐใช้มาตรการล็อคดาวน์ นอกจากนี้สมาชิกในบางครอบครัวที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างถูกปรับลดเงินเดือนลง หรือถูกเลิกจ้าง  รวมถึงการประกอบอาชีพธุรกิจรายย่อยและการค้าขายที่ต้องหยุดกิจการหรือมีรายได้ลดน้อยลง เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

      เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่บอกว่าคลายตัวลงแล้ว ยังมีผลกระทบต่อรายได้และหนี้สินของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครเพียงใด ทาง “อปท.นิวส์โพล” จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “โควิด-19 กับผลกระทบรายได้-หนี้” โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่ายในการเก็บข้อมูลทางออนไลน์ และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,200  ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 23 – 30 กันยายน 2564 โดยมีการกำหนดค่าความเชื่อมั่นไว้ที่ร้อยละ 95

      จากการรวบรวมข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,215 รายพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.6 รองลงมาคือกลุ่มผู้มีรายได้ 15,001–30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 28.9 ถัดมาคือกลุ่มรายได้ 50,001 บาทขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 21.6 และกลุ่มรายได้ 30,001-50,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.9

      เมื่อถามว่า “การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีผลกระทบต่อรายได้มากน้อยเพียงใด” ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.4 ตอบว่ามีผลมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 26 ตอบว่ามีผลมาก ร้อยละ 18.5 ตอบว่ามีผลปานกลาง ร้อยละ 8 ตอบว่ามีผลน้อย 

      เมื่อถามว่า “สถานภาพเงินออมของท่านเป็นอย่างไร” ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ร้อยละ 49.7 บอกว่าไม่มีเงินออม รองลงมาร้อยละ 45.1 บอกว่ามีเงินออมที่ลดน้อยลง ที่เหลือร้อยละ 5.2 ตอบว่ามีเงินออมเพิ่มขึ้น

      ถามในเรื่อง “หนี้สิน” ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 71.2 บอกว่ามีหนี้สิน ที่เหลือร้อยละ 28.8 บอกว่าไม่มีหนี้ ในกลุ่มที่มีหนี้เมื่อถามว่า “ท่านเป็นหนี้ต่อเดือนเท่าไหร่” ร้อยละ 48.9 ตอบว่ามีหนี้ต่อเดือน 10,000–50,000 บาท รองลงมาร้อยละ 37.4 มีหนี้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท ถัดมาร้อยละ 7.9 มีหนี้ต่อเดือน 100,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 5.8 มีหนี้ในระดับ 50,001-100,000 บาทต่อเดือน

      ถามถึง “แหล่งเงินกู้” ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.9 กู้จากสถาบันการเงินภาคเอกชน รองลงมาเป็นการกู้กับญาติพี่น้องและเพื่อน ร้อยละ 27.1 กู้จากธนาคารออมสินร้อยละ 18.9 กู้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ร้อยละ 12.9 กู้นอกระบบร้อยละ 12.3 และกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ร้อยละ 3.9

      ถามถึง “ประเภทของหนี้สิน” ส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ร้อยละ 41.9 ลองลงมาเป็นหนี้บัตรเครดิต ร้อยละ 40.8  ถัดมาเป็นหนี้ผ่อนยานพาหนะ คิดเป็นร้อยละ 35.5 หนี้อื่นๆร้อยละ 30.8 และหนี้ธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 14.1

              ถามว่า “ท่านต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้อย่างไร” ร้อยละ 43.9 ต้องการให้ลดดอกเบี้ย ถัดมาร้อยละ27.6 ต้องการให้ปรับสภาพหนี้ ร้อยละ 25.2 ต้องการให้ขยายเวลาชำระหนี้ ที่เหลือต้องการให้ขยายเวลาชำระดอกเบี้ย

              สุดท้ายถามว่า “ท่านอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรในสภาวะวิกฤติครั้งนี้” ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 55.5 ต้องการให้ลดปัญหาค่าครองชีพลง รองลงมาเป็นการแก้ปัญหาหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ 49.1 ถัดมาคือต้องการให้รัฐอนุญาตภาคเอกชนเปิดดำเนินธุรกิจบางอย่างได้ คิดเป็นร้อยละ 34.8 มีผู้ที่ต้องการให้รัฐใช้มาตรการคุมเข้มด้วยการล็อคดาวน์ 14 วัน คิดเป็นร้อยละ 30.3 ในทางกลับกันมีผู้ต้องการให้ผ่อนปรนการล็อคดาวน์ คิดเป็นร้อยละ 21.5 ที่น่าสนใจคือมีร้อยละ12.7 ที่ต้องการให้รัฐช่วยหางานให้ทำ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากการที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบทางเศรษฐกิจคงไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ต้องอาศัยความตั้งใจจริงของรัฐบาล การดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินแก่สถาบันครอบครัวในระยะยาว