ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิต การให้ความสำคัญกับทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ภายในงาน True Business Forum 2018 : The Digital Future to Sustainability ของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยายและเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าองค์กร
นายมีธรรม ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้กล่าวถึงแนวคิดการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการว่า การเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัล ทำให้เราหยุดนิ่งไม่ได้ จากเดิมที่ผู้ประกอบการต่างทำธุรกิจ ทำหน้าที่ของตนเองตามความสามารถ ความถนัด ไม่ประสานงานหรือเกื้อหนุนกัน ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystems) กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปตรงนี้ ยกตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น Apple และ Google ต่างพัฒนาและสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้มีความเกี่ยวข้องกับ ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพฯ และบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือ ต่างเข้ามาเกี่ยวข้องกัน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริการเชื่อมโยงกัน ภายใต้โครงสร้างและระบบที่ทั้งสองบริษัทวางไว้ จนเกิดเป็นกลไกการแข่งขันทางธุรกิจและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบาย ด้วยบริการที่ครบครัน จนเกิดความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ นำไปสู่ความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty)
“ในประเทศไทยเอง แต่เดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ หรือไม่ก็อยู่กับการทำธุรกิจแบบเก่าๆ มากกว่าจะสนใจพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล จนไม่ทันตั้งตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบความล้มเหลวทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ระบบนิเวศทางธุรกิจจึงเป็นระบบสำคัญ ที่ผู้ประกอบการควรนำมาใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของตนเอง ทันยุคสมัย พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
แต่ SMEs ขนาดเล็ก ไม่มีเครื่องมือดิจิทัลเทียบเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ จะแข่งขันอย่างไร?
นายธิติรัท บุตรแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้คำแนะนำในประเด็นนี้ว่า อย่างแรกคือต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Youtube, Twitter, Line หรือ สร้างบล็อก (Blog) เว็บไซต์ ควบคู่ไปกับการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อาทิ การติดต่อสื่อสาร ประชุม สั่งซื้อ จำหน่ายสินค้า ทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น นอกจากจะเป็นการลดต้นทุน ลดการทำงาน ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ SMEs ขนาดเล็ก ให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจใหญ่ ๆ ได้อย่างเท่าเทียม
นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม Innovation Lab / Venture Capital บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “ถึงแม้จะเป็น SMEs ขนาดเล็ก ก็สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ หากมีข้อมูลข้อมูลของผู้บริโภคและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แม้ SMEs จะไม่มี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็สามารถรวบรวมได้หลายวิธีในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การสร้างแฟนเพจ สร้างยูทูปแชนแนล สร้างอินสตราแกรม หรือไลน์ออฟฟิเชียล เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ และรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคไปในตัว
ขณะที่ นายธิง ลาย หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท พันธวณิช จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่พยายามพัฒนา AI ให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้บริโภค หรือ Big Data จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ นำไปต่อยอดในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต หากว่าผู้ประกอบสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ ก็ย่อมจะมีโอกาสทางธุรกิจที่เหนือกว่า และประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัล