การเคหะแห่งชาติ จับมือ “เนคเทค สวทช.” พัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ ในโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา”

366

การเคหะแห่งชาติ จับมือกับ “เนคเทค สวทช.” เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ ในโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในชุมชน

            การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการจากการพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมทางการเกษตรและปศุสัตว์เพื่อใช้ในโครงการบ้านเคหะสุขประชา ระหว่าง นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดยมี ดร.จเรรัฐ ปิงคลาศัย กรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีกับทั้งสองหน่วยงาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ คลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ           

            นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนพัฒนาชุมชนของการเคหะแห่งชาติให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงฟื้นฟูชุมชนเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ประกอบกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติ ดำเนินโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ในรูปแบบบ้านเช่าพร้อมอาชีพ เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจครัวเรือน โดยการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบครบวงจรตามบริบทสังคมและศักยภาพเชิงพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสุขประชา” ผ่านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และปศุสัตว์ เป็นต้น

            ความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติและเนคเทคในครั้งนี้ จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการจากการวิจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ส่งเสริมการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านการเกษตรและปศุสัตว์ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ในโครงการเศรษฐกิจสุขประชา ภายใต้โครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาและถ่ายทอดต่อไป โดยความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือทั้งด้านระดับนโยบาย กลยุทธ์และระดับปฏิบัติการ เพื่อสานพลังเชิงบวกสู่เป้าหมายในทิศทางเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

            ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของเนคเทคจะให้การส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีหรือระบบเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับประชาชนในโครงการเศรษฐกิจสุขประชา ภายใต้โครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” ตลอดจนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายเชิงนโยบายระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม เพื่อความสำเร็จและมีประสิทธิภาพของการดำเนินงาน

            ในระยะแรกเนคเทค สวทช.ได้นำผลงานวิจัยหลักที่นำมาร่วมกับโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา”ได้แก่ 1.HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อม 2.ชาวเกษตร โมบายแอปพลิเคชั่นที่แนะนำวิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามกรอบเวลา (crop calendar) และวิธีปฏิบัติงานในแปลงอย่างถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร อาทิ การบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ยหรือยารักษาโรคพืช การบันทึกพิกัดแปลง การจดบันทึกบัญชีฟาร์ม การแจ้งเตือนภัยโรคและศัตรูพืช เฝ้าดูสภาพภูมิอากาศใกล้เคียง การแจ้งราคาตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรใกล้ตําแหน่งแปลงเพาะปลูก และ 3) Farm To School ระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน ตอบโจทย์ข้อจำกัดของการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนหรือหน่วยงาน เหมาะสำหรับโรงเรียน เครือข่ายเกษตรกร และผู้จัดหาผลผลิต ระบบถูกออกแบบให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนให้เกิดการซื้อขายผลผลิตและวางแผนการผลิตแบบล่วงหน้าระหว่างโรงเรียนหรือหน่วยงาน และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกับความสามารถของระบบในการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการผลผลิตของโรงเรียน/หน่วยงานแบบอัตโนมัติจากระบบ Thai School Lunch และการจัดสรรผลผลิตเพื่อป้อนให้กับโรงเรียน/หน่วยงานตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดใช้ในครัวเรือนและชุมชน ในโครงการบ้านเคหะสุขประชาได้

            โดยบูรณาการงานวิจัย 3 เรื่องข้างต้นเพื่อพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภค/ผู้ค้า กับความสามารถในการผลิตของเกษตรกร รวมถึงบริหารจัดการ market place และ logistics เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพและรายได้ ให้กับผู้เช่า รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ในโครงการเคหะสุขประชา เพื่อส่งเสริมการทำการเกษตร ยกระดับผลผลิต ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คุณภาพชีวิต และรายได้ แก่ผู้เช่าในโครงการฯ เกษตรกร และผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการนำ Aqua IoT – นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อฟาร์มสัตว์น้ำ และ Eco Plant factory – โรงงานผลิตพืช ยกระดับการปลูกพืชสู่เกษตรแม่นยำ มาร่วมโครงการในระยะต่อไปด้วย และในอนาคตมีแนวคิดนำ Eco Plant factory นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ตลอดจนแพลตฟอร์มบริหารจัดการเมืองและชุมชน  มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ในโครงการบ้านเคหะสุขประชาด้วย

            สำหรับ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) กำหนดส่งมอบปีละประมาณ 20,000 หน่วย ด้วยแนวคิดการจัดสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเช่าให้กับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะ อัตราค่าเช่าประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งส่งเสริม “เศรษฐกิจสุขประชา” 6 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการ ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้า ปลีก – ส่ง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัยตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ จำนวน 572 หน่วย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย

            นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้ง บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยการเคหะแห่งชาติถือหุ้น 49% ที่เหลือเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน โดยเป็นธุรกิจอื่น อีก 7 กลุ่มถือหุ้นในสัดส่วนรวมกัน 51% อาทิ ธุรกิจค้าปลีก เกษตร เฮลท์แคร์ ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละรายจะถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 15%